กระทรวงเกษตรฯ หนุน "ลดเผา เบาฝุ่น" โดยบางจากฯ และบีบีจีไอ

ข่าวทั่วไป Friday October 18, 2024 11:08 —ThaiPR.net

กระทรวงเกษตรฯ หนุน

กระทรวงเกษตรฯ หนุน "ลดเผา เบาฝุ่น" โดยบางจากฯ และบีบีจีไอ
สนับสนุนเกษตรกรไทยลดการเผาตอซังและฟางข้าว เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยจุลินทรีย์

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ "ลดเผา เบาฝุ่น" ระหว่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อสนับสนุนการลดการเผาในภาคการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ย่อยตอซังและฟางข้าว ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะช่วยเกษตรกรลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยมี นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ นายอาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินร่วมลงนาม และได้รับเกียรติจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ริเริ่มแนวทางการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ร่วมเป็นสักขีพยาน

นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "บางจากฯ มีความยินดีที่ได้สนับสนุนเกษตรกรใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมมือกับบีบีจีไอ บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก ในการพัฒนาจุลินทรีย์ย่อยตอซังที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าวภายใน 7 วัน ลดความจำเป็นในการเผาและช่วยฟื้นฟูคุณภาพดิน ซึ่งนอกจากจะลดฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินในระยะยาว การลงนามในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของบางจากฯ ในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ทุกคนมีส่วนร่วม ส่งเสริมเกษตรกรไทยปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการลดมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า "บีบีจีไอภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาจุลินทรีย์ย่อยตอซังและฟางข้าวนี้ จากการศึกษาวิจัยร่วมกับพันธมิตร ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการเผา แต่ยังเป็นการช่วยพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างประโยชน์ระยะยาวให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบีบีจีไอในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเติบโตของภาคเกษตรกรรมในยุคที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

ายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการเผาของเกษตรกร ต้องใช้เทคโนโลยีและให้เกษตรกรเห็นผลจริงจากการทดสอบ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภาคการเกษตร โดยต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างอากาศสะอาด พื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน ซึ่งจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการและพื้นที่ของเกษตรกร พบว่าจุลินทรีย์สามารถย่อยสลายตอซังและฟางข้าวได้ภายใน 7 วัน มีขั้นตอนการใช้งานอย่างง่าย ได้รับการยอมรับจากเกษตรกร เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เผาในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก สำหรับระยะต่อไป มีแผนที่จะสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมในพื้นที่ 6 จังหวัดรอบกรุงเทพมหานคร

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือของทุกฝ่ายในโครงการนี้ โดยระบุว่า "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ด้วยการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนการเผา ตามแนวทาง 3R Model ของกระทรวงฯ แนวทาง R1: Re-Habit ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชเป็นการปลูกแบบไม่เผา โดยเน้นการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ต่อดิน ซึ่งการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าวในโครงการนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรลดการเผาได้อย่างยั่งยืน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากการลงนามความร่วมมือในวันนี้ แต่ละหน่วยงานจะนำความรู้ และความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานไปจัดทำโครงการและกิจกรรมบูรณาการร่วมกันป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาคการเกษตร เพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานของเราต่อไป"

โครงการ "ลดเผา เบาฝุ่น" จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ครอบคลุมพื้นที่นำร่อง 59,000 ไร่ ใน 6 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรกว่า 2,400 ราย สามารถปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ