คุมมลพิษจากการเผาถ่าน ลดฝุ่น PM2.5

ข่าวทั่วไป Friday October 18, 2024 11:23 —ThaiPR.net

คุมมลพิษจากการเผาถ่าน ลดฝุ่น PM2.5

ความรุนแรงของฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศเมื่อปี 2566 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษได้เผยถึงคุณภาพอากาศในภาพรวมทั่วประเทศในปี 2566 ว่า มีความรุนแรงมากขึ้นจากปี 2565 โดยปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และฝุ่นละออง PM10 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและภาคกลาง มีปริมาณฝุ่นละอองและก๊าซโอโซนเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน จึงกลายเป็นวาระสำคัญระดับชาติที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนต้องร่วมมือช่วยกันเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหานี้ให้บรรเทาลงอย่างเร่งด่วน

มลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยมีแหล่งกำเนิดหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการเผาถ่าน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น เขม่าควัน ฝุ่นละออง สารอินทรีย์ชนิดต่าง ๆที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเหตุรำคาญจากควันและกลิ่นเผาไหม้ ซึ่งล้วนแต่เป็นสารพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เกิดในขณะการเผาถ่านถึงขั้นตอนการไล่สารระเหิด ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย รวมถึงฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและปอด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ยังมีสารทาร์ มาจากถ่านที่ถูกเผาในอุณหภูมิไม่สูงพอ ก่อให้เกิดมะเร็ง อีกทั้งโลหะหนัก ที่ปล่อยออกมาในระหว่างการเผาถ่าน เช่น แคดเมียม ซึ่งอาจอยู่ในสถานะไอระเหย ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง และเบนโซไพรีนและไดเบนซานทราซีน ที่พบในเขม่าควันจากการเผาถ่านก็มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเช่นกันจะเห็นได้ว่าการเผาถ่านก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเห็นได้ชัดซึ่งหนึ่งในแนวทางที่สามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศ ป้องกันการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ได้นั้น คือ การลดเผาถ่าน โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้กำหนดแนวทางการควบคุมมลพิษจากการเผาถ่านเอาไว้

ดังนี้ 1.เลือกไม้ที่นำมาเผาต้องไม่มีความชื้นมากเกินไป 2. จัดเรียงไม้ไม่ให้แน่นจนเกินไปเพื่อให้มีช่องว่างเพียงพอสำหรับการถ่ายเทออกซิเจน 3. เลือกเตาที่สามารถเก็บรักษาความร้อนได้คงที่ทำให้มีอุณหภูมิสูง และเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ส่งผลให้มีควันน้อย 4. ติดตั้งระบบกำจัดควันก่อนระบายออกจากปล่องระบายควัน เช่น การทำน้ำส้มควันไม้ การติดตั้งตาข่ายพรางแสงร่วมกับสเปรย์น้ำ 5. จัดทำบ่อรวบรวมน้ำหมุนเวียน กลับไปใช้ในระบบสเปรย์ใหม่ โดยไม่ระบายทิ้งออกไปภายนอก 6. ปลูกแนวต้นไม้ลดผลกระทบ โดยแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้การเผาถ่านไม่ก่อฝุ่นละออง PM2.5 มากจนเกินไป ซึ่งต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้การควบคุมการเผาถ่าน จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยระบุไว้ว่าการเผาถ่านเข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลกิจการดังกล่าว มิให้ก่อเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หากมลพิษที่เกิดจากการเผาถ่านส่งผลกระทบกับประชาชน สามารถแจ้งเหตุได้ที่กรมควบคุมมลพิษ สายด่วน 1650 หรือแจ้งที่ เทศบาล/อบต./สำนักงานเขตในพื้นที่นั้น ๆ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สายด่วน 1567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ