เคยสงสัยไหมว่า อาหารแต่ละมื้อที่เรากินเหลือนั้น จะถูกกลายไปเป็นอะไรต่อ แล้วจะถูกแยกออกจากขยะประเภทอื่น ๆ หรือไม่ หากคุณตั้งคำถามและเป็นคนที่ช่างสงสัยในเรื่องราวเหล่านี้ แสดงว่าคุณคงกำลังหาวิธีช่วยเซฟโลกของเราอยู่ด้วยหัวใจที่รักษ์สิ่งแวดล้อม
จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในปี 2565 มีรายงานปัญหาผู้ขาดแคลนอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อทั่วโลกเผชิญวิกฤตอาหารโลก อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นทั่วโลก ภาวะสงคราม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการสูญเสียทรัพยากรของขยะอาหารมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 3,300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งสะเทือนถึงชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาขยะอาหารอย่างยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมาย 12.3 ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
สำหรับแนวทางการจัดการเพื่อลดขยะอาหารจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อประเทศของเรามาก โดยเฉพาะการจัดการขยะอาหารในส่วนที่เป็นอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) ซึ่งหมายถึง อาหารที่เลยวันที่ควรบริโภคก่อน (Best before) แต่ยังคงบริโภคได้อย่างปลอดภัย และเหมาะสมต่อการบริโภค มีคุณภาพด้านความปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหารที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์สด ผัก ผลไม้ เครื่องปรุง อาหารสำเร็จรูป อาหารที่ภาชนะบรรจุอาหารที่ไม่ผ่านข้อกำหนดของผู้ผลิตและ/หรือลูกค้า (เช่น สี ขนาด รูปร่าง หรือมีความบกพร่องของฉลากที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยหรือให้ข้อมูลผิดพลาด) อาหารที่มีการผลิตเกินคำสั่งซื้อ และ/หรือการยกเลิกคำสั่งซื้อ อาหารที่มีอายุการเก็บรักษาน้อยกว่าข้อกำหนดของผู้ซื้อ ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายได้ตามปกติ
ดังนั้นอาหารแต่ละมื้อจึงมีความหมาย เพราะหากมีส่วนที่เหลือเกินจะไม่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่าอีกต่อไป ด้วยการส่งต่ออาหารส่วนเกินเหล่านี้ไปยังผู้อื่นหรือแบ่งปันสู่ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้สนับสนุนให้มีการส่งต่ออาหารส่วนเกินไปบริจาคให้กับชุมชนหรือจังหวัดต่าง ๆ โดยผ่านมูลนิธิอย่างเช่น มูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ (SOS Thailand) หรือมูลนิธิวีวีแชร์ (VV Share Foundation) ซึ่งจะเป็นตัวกลางรับอาหารส่วนเกินจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ไปกระจายส่งต่อให้กับกลุ่มชุมชนเปราะบางที่ขาดแคลน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และหน่วยงานภาคประชาสังคมที่มีความต้องการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยปฏิบัติตามแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยอาหารสำหรับการบริจาคอาหาร เพื่อควบคุมคุณภาพอาหารและความปลอดภัยจนถึงมือผู้บริโภค
อีกหนึ่งช่องทางที่สามารถส่งต่ออาหารส่วนเกินได้เช่นกัน นั่นคือ การใช้แอปพลิเคชันสนับสนุนการจัดการขยะอาหาร เช่น Yindii (ยินดี) แอปจัดการอาหารส่วนเกินที่ลดราคาและจำหน่ายแบบกล่องสุ่ม หรือ Olio แอปส่งต่ออาหารที่กินไม่หมดแต่ยังกินได้ หรือ Oho แอปสั่งซื้ออาหารลดราคามีทั้งรู้เมนูล่วงหน้าและแบบกล่องสุ่ม
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากเป้าหมายเดียวกันนั่นคือการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้ไปเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เพื่อลดขยะอาหารให้ได้มากที่สุด นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางการจัดการปัญหาขยะอาหารที่นอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดและช่วยลดขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดโดยไม่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำให้โลกร้อนไปกว่าเดิม