- ธุรกิจมากกว่าสามในสี่เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของโลก การใช้ดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญทำให้ก้าวสู่ความยั่งยืนได้เร็วขึ้น
- 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยมีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ในจำนวนนี้ 66% ระบุว่าพวกเขาเดินอยู่บนเส้นทางที่จะนำพาไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
- อุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน 3 ลำดับแรก ที่องค์กรพบบ่อยที่สุดคือ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซัพพลายเชนที่ซับซ้อน และข้อจำกัดทางเทคโนโลยี
ผลสำรวจ "แนวโน้มและดัชนีความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี 2024" (Tech-Driven Sustainability Trends and Index 2024) จัดทำโดยอาลีบาบา คลาวด์ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และหน่วยงานหลักด้านอินเทลลิเจนซ์ของอาลีบาบา กรุ๊ป พบว่า 80% ของธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจจากเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง ระบุว่าได้มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้ว แต่ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่ง (53%) ยังคงใช้วิธีการวัดประสิทธิภาพความก้าวหน้าของเป้าหมายดังกล่าวแบบแมนนวล ธุรกิจไทยก็มีแนวโน้มคล้ายกัน โดยมีธุรกิจถึง 82% ที่มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่ 50% ยังคงใช้วิธีวัดประสิทธิภาพแบบแมนนวล
ข้อมูลจากรายงานเผยให้เห็นว่า 92% ของบรรดาธุรกิจที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืน ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม มีเพียงหนึ่งในสามขององค์กรเหล่านี้ ที่ให้คำมั่นด้าน net-zero ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์ (science-based targets: SBTs) ทั้งนี้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมีการกำหนดเป้าหมายอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ (SBTs) มากที่สุด อยู่ที่ 39% ตามด้วยยุโรป 35% ตลาดพัฒนาแล้วในเอเชีย 30% และตะวันออกกลาง 22%
ธุรกิจที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนประมาณครึ่งหนึ่งระบุว่า แรงจูงใจสำคัญในการตั้งเป้าหมายต่าง ๆ มาจาก การขับเคลื่อนการเติบโต (56%) การปฏิบัติตามกฎระเบียบ (54%) และเพื่อความแข็งแกร่งขององค์กร (49%) ในบรรดาตลาดที่ทำการสำรวจทั้งหมด องค์กรธุรกิจในอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจมากที่สุด (70%) ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียเน้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (73%) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เน้นเรื่องความแข็งแกร่งขององค์กร (61%) สำหรับตลาดไทย ธุรกิจให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า (45%) การขับเคลื่อนการเติบโต (44%) และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (43%)
ธุรกิจ 78% เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญมากต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของโลก โดยตลาดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ลำดับต้น ๆ คือ มาเลเซีย (89%) ซาอุดีอาระเบีย (87%) สิงคโปร์ (86%) และฝรั่งเศส (86%) หากพิจารณาในระดับภูมิภาค ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีความเชื่อว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนมากที่สุด (86%) โดยมีตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตามติดมาเป็นอันดับสอง (83%) ในขณะที่ 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง และ AI มาใช้ จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้เร็วขึ้น ตลาดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุดคือซาอุดีอาระเบีย (90%) ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (84%) และสิงคโปร์ (81%)
ระดับและความท้าทายที่มีต่อความมุ่งมั่นของแต่ละตลาด
เมื่อประเมินระดับความมุ่งมั่นของแต่ละตลาดแล้ว สิงคโปร์อยู่ในระดับสูงสุดจากดัชนีความยั่งยืนที่ 91% ตามติดด้วยเยอรมนีที่ 89% และอินโดนีเซียที่ 86% ทั้งนี้ ดัชนีความยั่งยืนหมายถึงเปอร์เซ็นต์ของธุรกิจต่าง ๆ ที่มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนจากตลาด 13 แห่งที่ทำการสำรวจ
ธุรกิจต่างต้องเผชิญกับอุปสรรคหลากหลายบนเส้นทางสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน องค์กรที่ตอบแบบสำรวจ 29% ระบุว่า ข้อจำกัดด้านงบประมาณเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด ที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร โดยเฉพาะองค์กรในตะวันออกกลาง (41%) และยุโรป (31%) ซัพพลายเชนที่ซับซ้อนยิ่งทำให้ความพยายามต่าง ๆ ยุ่งยากมากขึ้น โดย 28% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจ ได้รับผลกระทบด้านนี้ หากดูเฉพาะองค์กรในไทยผลสำรวจเผยว่าได้รับผลกระทบในสัดส่วนที่สูงกว่า (32%) นอกจากนี้ 23% ของบริษัทต่าง ๆ พบกับอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยี โดยตะวันออกกลางพบในอัตราสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 26% ข้อจำกัดด้านเวลาเป็นความท้าทายที่สำคัญมากในทุกภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อ 23% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจ โดยไทยมีสัดส่วนสูงสุดที่ 34% ส่วนอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรที่ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ได้แก่ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ (32%) และข้อจำกัดทางเทคโนโลยี (29%)
การพึ่งพาการวัดผลแบบแมนนวล
เครื่องมือดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด การสำรวจครั้งนี้เน้นให้เห็นความจำเป็นที่ธุรกิจต่างต้องทำความเข้าใจเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจ 59% ยอมรับว่า ยังมีช่องว่างทางความรู้ว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างไร ความรู้สึกเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนในสิงคโปร์ (83%) ฮ่องกง (75%) และไทย (70%)
รายงานยังแสดงให้เห็นว่า โดยทั่วไปธุรกิจพึ่งพาแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจทำให้เกิดความท้าทายต่อความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืน ผลสำรวจบ่งชี้ว่า มากกว่า 50% ขององค์กรธุรกิจใช้กระบวนการวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนแบบแมนนวล เช่น การใช้สเปรดชีต อีเมล และวิธีการที่คล้ายคลึงกัน ตลาดที่ทำการสำรวจทุกตลาด ยกเว้น ฮ่องกง (29%) เกาหลีใต้ (43%) และฝรั่งเศส (49%) อยู่ในเกณฑ์ที่เกิน 50% โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีเปอร์เซ็นต์สูงสุด (68%) ตามด้วยซาอุดีอาระเบีย (61%) และสหราชอาณาจักร (60%) ในขณะเดียวกัน มีเพียงประมาณหนึ่งในสามขององค์กรที่ใช้เครื่องมือที่เป็นซอฟต์แวร์ดิจิทัล ซึ่งรวมถึงคลาวด์แพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับติดตามความคืบหน้าและวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืน ตลาดที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำโซลูชันที่ทำงานบนคลาวด์ไปใช้มากขึ้น คือ อินโดนีเซีย (59%) สิงคโปร์ (48%) และญี่ปุ่น (43%) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการใช้งานอยู่ที่ 38%
คุณเซลิน่า หยวน ประธานด้านธุรกิจระหว่างประเทศของอาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า "ผลสำรวจเน้นให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต่าง ๆ ต้องประเมินวิธีการวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของตนใหม่ และเปิดรับเทคโนโลยีโซลูชันที่ล้ำหน้า เช่น แพลตฟอร์มที่ทำงานบนคลาวด์ และบริการด้าน AI ต่าง ๆ เครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการวัดผลเท่านั้น แต่ยังมอบข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้ได้จริง ซึ่งสามารถขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านความยั่งยืนได้อย่างมีนัยสำคัญ"
เซลิน่า กล่าวเสริมว่า "ในฐานะผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำ เรามุ่งมั่นมอบนวัตกรรมและโซลูชันที่ ขับเคลื่อนการทำงานด้วย AI เช่น Energy Expert เพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ วัดและวิเคราะห์ การปล่อยก๊าซคาร์บอนและการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร การจัดการอุปสรรคที่มีอยู่ และการลงทุนในเครื่องมือที่ล้ำหน้าดังกล่าว จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับแนวความคิดริเริ่ม ด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ดีขึ้น"
รายงาน "Tech-Driven Sustainability Trends and Index 2024" ของอาลีบาบา คลาวด์ มีจุดประสงค์เพื่อมอบข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าให้กับการพัฒนาภูมิทัศน์ด้านความยั่งยืนขององค์กร และเน้นให้เห็นวิธีการที่เทคโนโลยีสามารถใช้เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร