จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดโครงการฝึกอบรมครู "พิพิธภารัต 2567" เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับอินเดียดั้งเดิมและสมัยใหม่ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยกับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ และเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและอินเดีย โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และ นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เป็นประธานในงาน
โครงการอบรมครู "พิพิธภารัต 2567" จัดขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และภาษาของอินเดียให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้สร้างเครือข่ายและความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับอินเดียในมิติทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้และทักษะในการสอนโครงการอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 ตุลาคม 2567 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยมูลนิธิอินเดียศึกษา (ประเทศไทย) ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายในการยกระดับการเรียนการสอนภาษาฮินดีในประเทศไทย โดยการจัดตั้ง "ICCR Chair of Hindi" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านอินเดียและสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาฮินดีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่าการอบรม "พิพิธภารัต 2567" เป็นโอกาสสำคัญสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับอินเดีย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของอินเดียในยุคสมัยใหม่ นอกจากนี้การจัดตั้ง ICCR Chair of Hindi ยังเป็นการยกระดับการเรียนการสอนภาษาฮินดีในประเทศไทย เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกับอินเดีย ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมอินเดียได้อย่างลึกซึ้ง และเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้นในอนาคต
รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของโครงการ"พิพิธภารัต 2567" ว่า "พิพิธภารัต" เป็นงานอบรมครูจากทั่วประเทศ มุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างประเทศไทยและอินเดีย การอบรมนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอินเดียในด้านต่าง ๆ เช่น อาหารอินเดีย ภาษาอินเดีย วัฒนธรรม และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับอินเดียและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคต
รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า "การลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ตำแหน่งอาจารย์ภาษาฮินดีแห่ง ICCR ในครั้งนี้จะทำให้คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดียในการส่งชาวอินเดียมาสอนภาษาฮินดีในคณะ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคณะอักษรศาสตร์ที่ได้มีการสนับสนุนอย่างจริงจังจากประเทศอินเดีย ซึ่งการเรียนรู้ภาษาฮินดีจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของอินเดีย