2 แพทย์ชื่อดังแนะวิธีเด็ดรับมือวัยทอง “ต้องเป็นไปตามวัย” เฉลย 4 องค์รวมสำคัญต้องตั้งรับ “ร่างกาย จิตใจ เพศ และสังคม”

ข่าวทั่วไป Thursday February 3, 2005 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--เซเรบอส (ประเทศไทย)
2 แพทย์ชื่อดังแนะวิธีเด็ดรับมือวัยทอง “ต้องเป็นไปตามวัย” เฉลย 4 องค์รวมสำคัญต้องตั้งรับ “ร่างกาย จิตใจ เพศ และสังคม” ของคนวัยทอง เพื่อสุขภาพดีทั้งกายและใจ
ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ และ นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล 2 นายแพทย์ชื่อดังของประเทศเกี่ยวก้อยไขสารพันปัญหาคนวัยทอง ในงานสัมมนาเรื่อง “เตรียมรับวัยทองให้มีสุขภาพดี ชีวีสดใส” ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยกองทัพบก ร่วมกับ บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์ซุปไก่สกัดตรา โดยคุณหมอทั้ง 2 ท่านเห็นสอดคล้องกันในการรับมือวัยทอง “ต้องเป็นไปตามวัย รับรองสุขภาพดีทั้งกายและใจ” เผย 4 สัญญาณบอกเหตุคนวัยทองให้ดูจาก จิตใจ ร่างกาย เรื่องเพศ และสังคม
ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ ได้กล่าวว่าเมื่อผู้หญิงและผู้ชายย่างก้าวเข้าสู่วัยทอง จะคล้ายๆกันคือผู้ชายจะขาดฮอร์โมนเพศชาย ส่วนผู้หญิงก็ขาดฮอร์โมนเพศหญิง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยสังเกตจาก 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ ทางด้านจิตใจ ร่างกาย ความรู้สึกทางเพศ และการปรับตัวทางด้านสังคมที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงทาง “ด้านจิตใจ” คนในวัยนี้จะมีอาการซึมเศร้า ขาดความรู้สึกกระตือรือร้น อารมณ์แปรปรวน และขาดสมาธิ ส่วนทาง “ร่างกาย” สังเกตได้จากเส้นผมบางลง มีสีขาว สายตาจะเริ่มมองเห็นไม่ชัดเจน ความจำเริ่มถดถอยลดลง ส่วนทางด้าน“ความรู้สึกทางเพศ” จะมีความรู้สึกทางเพศลดลง เบื่อหน่ายเรื่องเพศ อาจส่งผลต่อความสุขในการดำเนินชีวิตคู่ได้ ส่วนทางด้าน “สังคม” จะทำให้คนใกล้ชิดเบื่อหน่ายเพราะอารมณ์แปรปรวนของคนวัยทองเอง
ดังนั้นคนในวัยนี้จึงต้องรู้จักสร้างทางเลือกสำหรับตนเอง รู้จักปรับและเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันทุกๆ ด้านนั้น เช่น พักผ่อนให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้สร้างฮอร์โมนอย่างเต็มที่ เพราะภายหลังที่ผู้หญิงหมดประจำเดือนตามธรรมชาติไปแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะน้อยลง ภายใน 6 ปีหลังจากหมดประจำเดือน สตรีอาจมีกระดูกบางลงได้ถึงหนึ่งในสามจากของเดิม และยังเสี่ยงต่อ โรคของระบบหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้นได้เช่นกัน ส่วนผู้ชายจะขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะโรคกระดูกพรุน ได้เช่นกัน
วิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ทุกวันเพื่อสร้างชีวีให้สดใส พร้อมกับเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบหมวดหมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เสริมอีกนิดที่สำคัญไม่แพ้กันคือการ
ขมิบก้น เพื่อป้องกันการปัสสาวะบ่อย รวมทั้งการออกสังคมบ้าง และทำใจยอมรับและมีความสุขกับอายุที่เปลี่ยนไป ตั้งรับอย่างมีสติ รับรองท่านจะมีความสุขไม่แพ้วัยไหนๆ เลย
ด้านนพ. สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
“สุขภาพทางด้านร่างกายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตในชีวิตของคนเรา ประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ การงาน ครอบครัว ส่วนตัว และสังคม ทั้งนี้ ช่วงวัยหนุ่มสาวการงานจะเยอะมาก แต่พอเกษียณอายุจะมีเวลาส่วนตัวและสังคมกันมากขึ้น จะสังเกตได้ว่าการงานและส่วนตัวของไลฟ์สไตล์หรือรูปแบบการดำเนินชีวิตจะตรงกันข้ามอยู่เสมอ สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกๆ ด้านนั้น ยังทำให้เกิดความคิดที่ว่า “มีชีวิตแต่ไม่มีชีวา” อีกด้วย ซึ่งถ้าเราประสบกับปัญหาทั้ง 4 ด้านดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ให้ถือว่าเป็นรสชาติของชีวิต”
พร้อมกันนี้ ความสุขและความทุกข์มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันเสมอ ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของ ”สมอง” หรือที่ตั้งของจิตก็คือออฟฟิศของใจ ซึ่งองค์ประกอบทางด้านจิตใจและสมองในส่วนที่เป็นจิตรู้สำนึก คือ ด้านความคิดและความรู้สึก เช่น เมื่อเรามีความคิดในทางบวกจะทำให้เราโน้มน้าวความคิดในแง่ที่ดี “ความคิดดี ใจเป็นสุข คิดไม่ดีใจเป็นทุกข์” สุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่กับความคิด (สิ่งที่เราเจอบ่อยๆ ) สำหรับความทุกข์หรือความเจ็บปวดจะอยู่ด้านมืดของชีวิต ซึ่งเป็นการเตือนสติและเป็นการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง เพราะวิกฤตของชีวิตก็คือความเข้าใจ ถ้าหากเราผ่านพ้นไปได้จะเกิดการพัฒนาการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความทุกข์เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ก็คือ ขยะทางความคิดและมลพิษทางอารมณ์นั่นเอง
ส่วน “ความสุข” นั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ผ่อนคลายและสบายใจ และวิธีการบริหารจิตให้ชีวิตมีความสุข ก็คือ การคิดในทางบวก ด้วยการคิดว่าอะไรที่ไม่ดีแต่หาเรื่องที่ดีๆ ของเรื่องนั้น หรือในบางครั้งเมื่อทำอะไรประสบผลสำเร็จจะทำให้เกิดความสุขแบบภาคภูมิใจ พร้อมกันนี้ ความใกล้ชิดจากธรรมชาติยังจะทำให้จิตใจสงบและผ่อนคลายอีกทั้งการเข้าใจในชีวิตให้มากขึ้นก็ส่งผลดีต่อจิตใจได้เป็นอย่างดี” นพ. สุกมล กล่าวในท้ายสุด
ได้ทราบเคล็ดลับการปฏิบัติตนให้มีความสุขในวัยทองที่ทางแบรนด์แลัวิทยาลัยกองทัพบกนำมาฝากกันไปแล้ว ก็อย่าลืมนำไปทดลองปฏิบัติกันดูนะคะ แล้วจะรู้ว่าการที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีได้นั้นไมใช่เรื่องยากสำหรับวัยทองอีกต่อไป
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 0 2736 3430 ต่อ 31,32,35--จบ--

แท็ก วัยทอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ