นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรายงานการตรวจพบสารเคมีตกค้างในองุ่นไซน์มัสกัตว่า สนอ. มีมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ตลาด ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท/ร้านขายของชำ โดยดำเนินการร่วมกับ 50 สำนักงานเขต และได้สนับสนุนรถหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit for Food Safety) ให้กับสำนักงานเขตทั้ง 6 กลุ่มเขต เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลและการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาหาร ประกอบด้วย (1) การตรวจสอบสุขลักษณะการจำหน่ายโดยผู้ที่ทำการค้าจำหน่ายอาหารต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ต้องเป็นผู้ค้าที่ผ่านการอบรมด้านการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรของ กทม. และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขลักษณะการจำหน่ายอาหาร ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ กทม. ดำเนินการตรวจสอบและแนะนำให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อยู่เสมอ (2) การตรวจสอบคุณภาพอาหาร ทั้งการวิเคราะห์หาสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในอาหาร การตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง และการตรวจความสะอาดของภาชนะอุปกรณ์และมือผู้สัมผัสอาหาร พร้อมทั้งตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารทางห้องปฏิบัติการ โดยวิเคราะห์หาเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคที่เป็นอันตรายในระบบทางเดินอาหาร ทั้งในอาหารพร้อมบริโภคและเครื่องดื่มที่ไม่ได้บรรจุในภาชนะปิดสนิท รวมทั้งตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก ผลไม้ และตรวจวิเคราะห์หาสารพิษจากเชื้อราในอาหาร (Aflatoxin) (3) ส่งเสริมให้ผู้ค้าเข้ารับการอบรมการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรของ กทม. (4) การมอบป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. ให้กับร้านที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. เพื่อสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพิ่มความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ประชาชน
ทั้งนี้ ในระหว่างเดือน ต.ค. 66 - ก.ย. 67 ที่ผ่านมา กทม. ได้ตรวจเฝ้าระวังการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง/สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยสุ่มตรวจในตัวอย่างอาหาร ประเภทผักและผลไม้ในตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต และในปีงบประมาณ 2568 สนอ. ได้จัดทำแผนการตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ จากตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง กรณีตรวจพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตจะดำเนินการวิเคราะห์หาจุดเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต และส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสืบค้นหาสาเหตุแห่งการปนเปื้อนในอาหาร เพื่อกำกับดูแลและปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกันยังประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านสารเคมีปนเปื้อนในอาหารแก่ผู้ค้าและประชาชนผู้บริโภค ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงาน รวมทั้งจัดทำสื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชน อาทิ คราบขาวบนผิวองุ่นคืออะไร อันตรายหรือไม่ ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือสงสัยว่ามีการกระทำผิด สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่แอปพลิเคชัน BKK Food Safety หรือ Traffy Fondue หรือสายด่วน 1555