พม. จับมือภาคีภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมขับเคลื่อนอนาคตที่อยู่อาศัย สร้างชุมชนอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 29, 2024 12:14 —ThaiPR.net

พม. จับมือภาคีภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมขับเคลื่อนอนาคตที่อยู่อาศัย สร้างชุมชนอย่างยั่งยืน

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย (International Conference on Sustainable Communities for All) ภายใต้โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์ และแสดงบทบาทด้านการพัฒนาเมือง มิติที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดผู้มีรายได้น้อยของประเทศไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ (Urban Renaissance: Empowering Thailand's Low-Income Communities on the Global Stage) โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพมหานคร

การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ในด้านการพัฒนาเมือง และที่อยู่อาศัย รวมถึงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดผู้มีรายได้น้อย สำหรับประเทศไทยและประเทศในเอเชียและแปซิฟิก ตลอดจนเพื่อยกระดับกระทรวง พม. และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมในประเทศไทย

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กล่าวว่า "การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ร่วมเฉลิมฉลอง Urban October และวันเมืองโลก (World Cities Day) ในวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งปีนี้มุ่งเน้นถึงบทบาทของเยาวชนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับทุกคน วันนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่พันธมิตรจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยเรื่อง "ที่อยู่อาศัย" ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิตและรากฐานสำคัญของความมั่นคง ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เข้าถึงได้สำหรับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จึงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความผันผวนและความไม่แน่นอน หรือยุค VUCA World ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งทำให้ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง และจากรายงานของสหประชาชาติที่ชี้ว่าประชากรกว่า 1.8 พันล้านคนทั่วโลกยังขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่มั่นคง รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เผชิญกับการเติบโตของประชากรในเมืองอย่างรวดเร็ว กระทรวง พม. จึงดำเนินนโยบายพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว เพื่อให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตามเป้าหมาย "คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายในปี 2579"

การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง เรามาร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมอภิปรายและแบ่งปันความคิดเห็นเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและชุมชนที่ยั่งยืน"

นอกเหนือจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ยังได้รับฟังสาสน์จาก UN-Habitat เนื่องในโอกาส World Habitat Day และ Urban October การอภิปรายและการบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การอภิปรายโดยผู้แทนเยาวชน การประชุมเต็มคณะเพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง และที่อยู่อาศัยโดยคณะผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การศึกษาดูงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีการนำเสนอวิดีทัศน์และการจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอถึงสถานการณ์ แนวโน้ม และยุทธศาสตร์ แผนงาน นโยบาย และมาตรการที่สำคัญของประเทศไทย โดยกระทรวง พม. ในการรับมือกับวิกฤติการณ์และข้อท้าทายต่าง ๆ ซึ่งที่สำคัญได้แก่ "นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร" ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของกระทรวง พม. ที่มุ่งเน้นรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรด้วยการเชื่อมโยงและบูรณาการกับทุกองคาพยพในสังคมเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวและการจัดหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สำหรับทุกกลุ่ม

สำหรับการนำผลลัพธ์จากการประชุมระหว่างประเทศในครั้งนี้ไปขยายผล ผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถนำแนวปฏิบัติที่ดีและแนวทางเชิงนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่และขยายผลในการประชุม World Urban Forum ครั้งที่ 12 ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในระดับโลกที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในด้านการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย รวมถึงร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการสร้างชุมชนที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ