'IROYAL' เนื้อหอม ปิดการขายหุ้น IPO หลัง นักลงทุนแห่จองซื้อล้นหลาม เตรียมพร้อมนำหุ้นเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ มุ่งมั่นยกระดับองค์กรสู่ผู้นำธุรกิจด้านโซลูชั่นพลังงานไฟฟ้า ที่เติบโตไปด้วยการนำเสนอนวัตกรรมพลังงานสู่อนาคต
'บมจ. อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง' หรือ IROYAL' พร้อมนำหุ้นเข้าเทรดในในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรก วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ปลื้มกระแสตอบรับนักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพธุรกิจ หลังยอดจองซื้อหุ้น IPO ล้นหลาม ชี้พื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง ตอกย้ำเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของประเทศ มุ่งยกระดับองค์กรสู่ผู้นำทางธุรกิจด้านโซลูชั่นพลังงานไฟฟ้าที่เติบโตไปด้วยการนำเสนอนวัตกรรมในพลังงานสู่อนาคต
นายภณภัทร เมฆาสุวรรณดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ IROYAL เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ โดยใช้ชื่อย่อ 'IROYAL' ในการซื้อขายหลักทรัพย์ และเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของบริษัทฯ ในการเป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมเพื่อจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะครอบคลุมงานติดตั้งและงานซ่อมบำรุง ด้วยการออกแบบ ให้คำปรึกษา และนำเสนอโซลูชั่น เพื่อตอบสนองตามความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีความได้เปรียบในการแข่งขันและพร้อมต่อยอดสู่ความสำเร็จในการขยายโมเดลธุรกิจที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภค เร่งขับเคลื่อนพลังงานสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนไม่เกิน 58 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 6.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นย้อนหลัง (Price to Earnings Ratio : Trailing P/E) ที่ประมาณ 15.83 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ P/E ของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่หุ้นของบริษัทฯ จะเข้าจดทะเบียน เฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีค่าเท่ากับ 77.92 เท่า จึงสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการลงทุนที่โดดเด่นและถือเป็นราคาที่น่าสนใจเมื่อพิจารณาถึงความแข็งแกร่งในการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยภายหลังจากเปิดจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 24-25, 28 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จ โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและพื้นฐานทางธุรกิจซึ่งมีความแข็งแกร่ง คาดว่าช่วยสนับสนุนให้ IROYAL เป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนภายหลังจากเข้าเทรด
ด้านบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆประเมินว่า IROYAL มีศักยภาพในการเติบโต ฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และเป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นพร้อมมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรม โดยประเมินราคาเหมาะสมที่ 10.20-10.50 บาท คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2568 อยู่ที่เฉลี่ย 0.67 บาท ดังนั้นเมื่อพิจารณาที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 6.50 บาท จะคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (Forward P/E ปี 2568) เพียง 9.70 เท่า
ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นยกระดับองค์กรสู่ผู้นำทางธุรกิจด้านโซลูชั่นพลังงานไฟฟ้าที่เติบโตไปด้วยการนำเสนอนวัตกรรมในพลังงานสู่อนาคต รวมถึงการจำหน่ายและบริการติดตั้งระบบวิศวกรรมที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ซึ่งภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai บริษัทฯ ได้วางแผนขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน แบ่งเป็น 1. เพื่อใช้ในการประมูล และค้ำประกันผลงาน งานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ภายในปี 2567-2568 จำนวน 280 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายการรับงานของกลุ่มบริษัทฯ ในอนาคต และ 2. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ภายในปี 2567-2568 จำนวน 78.21 ล้านบาท โดยเงินระดมทุนส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ลงทุนในผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิม และ/หรือขยายผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโอกาสทางธุรกิจและความเหมาะสมในการลงทุนในอนาคต
นางสาวประภาพรรณ ประภัทรโพธิพงศ์ กรรมการบริษัท บริษัท อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ IROYAL กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ ได้เริ่มขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เพื่อต่อยอดจากพื้นฐานความเชี่ยวชาญเดิม เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ จัดหาและให้บริการสามารถใช้งานในระบบต่างๆ ของอุตสาหกรรมอื่นได้ เช่น โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงงานปิโตรเคมี ที่มีระบบการเผาไหม้ (Combustion System) โรงงานปูนซีเมนต์ ที่มีระบบจัดการของเสียและไอเสีย (Flue Gas Management System) และได้เริ่มขยายฐานลูกค้าด้วยการสรรหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน (Uninterruptible Power Supply System) โดยเน้นกลุ่มโรงแรม อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารโรงพยาบาล ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน
"ด้วยจุดแข็งของ IROYAL ที่มี Business Model ที่แข็งแกร่ง สามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ จากผู้ผลิตที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นนำที่ได้มาตรฐาน และมีการยอมรับในระดับสากลจากหลายแบรนด์ทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น จึงสามารถตอบโจทย์ลูกค้าด้วย One-Stop Service & Customized Solution ขณะเดียวกันด้านผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ยังสามารถทำกำไรสุทธิให้เติบโตกว่าเท่าตัวในปีที่ผ่านมาและอัตรากำไรสุทธิยังเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงที่ 25-30% สะท้อนความเชี่ยวชาญในการจัดหาผลิตภัณฑ์และการบริหารต้นทุน รวมถึงสามารถเติบโตได้แบบไร้หนี้สินและไม่มีภาระดอกเบี้ย D/E Ratio ต่ำ ทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินสูง และพร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต" นางสาวประภาพรรณ กล่าว
นางสาวนลิน วิริยะเสถียร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ธุรกิจของ IROYAL ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการดำเนินธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของประเทศโดย ส่งผลให้ในช่วงการจองซื้อหุ้น IPO ที่ผ่านมาได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากนักลงทุนรายย่อยซึ่งมีความต้องการจองซื้อล้นหลามและมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรแก่นักลงทุน ด้วยพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และศักยภาพในการสร้างการเติบโตในอนาคต ประกอบกับ การที่กลุ่มบริษัทฯ ไม่มีคู่แข่งทางตรงที่ทำธุรกิจเหมือนกับ IROYAL ที่สามารถจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้าได้หลากหลายประเภทและครบวงจร โดยการมุ่งเน้นในเรื่องของการจัดหาผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงจากผู้ผลิตที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญในการผลิต เทคนิคเฉพาะทาง (Customized) เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าอย่างสูงสุด
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บมจ. อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง คือ บริษัทฯ ที่ทำธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงขายผลิตภัณฑ์เพื่อได้กำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการบริหารควบคู่กับการพัฒนาบุคลากร เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละประเภท และเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรเพื่อเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG พร้อมด้วยเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจผ่านแนวทาง Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรโลกอย่างยั่งยืน