องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้ และองค์กรเครือข่าย จัด Policy Forum ครั้งที่ 23 เตรียมพร้อม "ภาคใต้" รับมือภัยพิบัติ ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เพื่อประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงว่า ภาคใต้ปีนี้หนักแค่ไหน? จะต้องหนีเมื่อไหร่? หนีอย่างไร และหนีไปไหน? เมื่อภัยพิบัติมาถึงตัว ภายใต้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, มูลนิธิชุมชนไท, เครือข่ายจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยทักษิณ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน), ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สสส., สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะลานีญา และเข้าสู่ลานีญาสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นช่วงฤดูมรสุมภาคใต้ฝั่งตะวันออก ภาคใต้ปีนี้ จึงมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะต้องเฝ้าระวังพิเศษ เพราะจะมีฝนเยอะ โดยต้องเฝ้าระวังฝนตกจาก 4 พฤติกรรม หรือ 4 ปัจจัย คือ ร่องมรสุม ที่จะแช่ตัวที่ภาคใต้ เปรียบเทียบที่ก่อนหน้านี้เห็นร่องมรสุมแช่ตัวทางภาคเหนือค่อนข้างยาวนาน ชัดเจนว่ามีแนวโน้มร่องมรสุมแช่ตัวที่ภาคใต้, ทุกครั้งที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาว ลมหนาวพัดมา และจะพัดผ่านทะเล จะหอบความชื้นมาด้วย มีแนวโน้มค่อยฝนข้างแรงและมาบ่อย, ทุกครั้งที่ทีมรสุมเคลื่อนตัวเข้ามา จะมีกระแสลมพัดไปปะทะเกาะบอเนียว หมุนตัวพัฒนาหย่อมความกดอากาศต่ำ กลายเป็นมินิพายุ และยังมีปัจจัยการก่อตัวพายุในทะเลแปซิฟิกค่อนข้างบ่อย และ 2-3 ลูกที่เข้ามามีอิทธิพลกับประเทศไทยตอนบน อย่างพายุซูริกที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย โดยการก่อตัวนี้ยังก่อตัวอยู่ และเห็นก่อตัวเรื่อย ๆ หากก่อตัวในช่วง 3 เดือนนี้ ก็จะเคลื่อนพายุมาทางภาคใต้
"อยากเน้นย้ำพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงมาถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมาฝนมากกว่าปกติ ตกต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้ดินอิ่มตัวแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าพื้นที่อื่น เช่น จ.ชุมพร, สุราษฎร์ธานี จะไม่ต้องเฝ้าระวัง เพราะแค่มีหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามา ก็พลิกสถานการณ์ได้ทันที รวมทั้งภาคใต้ฝั่นตะวันตก ภูเก็ต, พังงา ยังต้องเฝ้าระวังด้วย" วรรธนศักดิ์ กล่าว
สุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุถึงสาเหตุดินถล่ม มีอยู่ 2 ปัจจัย ทั้งเรื่องภูมิอากาศ ความแปรปรวน แต่อีกปัจจัยที่เป็นฐานสำคัญ คือ ดินที่อยู่ในพื้นที่นั้น เป็นตัวเร่งที่ทำให้ เมื่อไรที่มีฝน ดินโคลนจะถล่ม สำหรับพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม 1.เป็นพื้นที่ซ้ำ หรือพื้นที่เคยเกิดดินถล่มมาแล้ว 2.ปัจจัยทางธรณีวิทยา ซึ่งพื้นที่เสี่ยง คือพื้นที่หินแกรนิต เพราะมีแร่ดิน เมื่อโดนน้ำจะบวม จะขยายตัวและอุ้มน้ำ เป็นปัจจัยว่าตรงไหนที่มีหินแกรนิต ก็จะเสี่ยงดินถล่ม
โกเมศร์ ทองบุญชู เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อมั่นว่า การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ตัวหลักที่ต้องตัดสินใจคือชุมชน เพราะหากไม่เร่งเราก็ตาย เพราะหน่วยงานไม่ได้อยู่ หรือเวลาเกิดภัยพิบัติเข้าพื้นที่ไม่ได้ ชุมชนต้องอยู่ให้รอดให้ได้ ดังนั้นการมีแผนรับมือ ตั้งแต่การทำแผนที่ชุมชน จำนวนประชากร กลุ่มคนเปราะบางที่ต้องอพยพก่อน ไปจนถึงการวางพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สูงเพื่อใช้เป็นจุดอพอพของชุมชน ที่เชื่อมการส่งต่อการรักษา รพ.สต. ไปจนถึงการทำครัวกลาง และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุปีละ 3 ครั้ง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการรับมือ เมื่อเกิดภัยพิบัติ ที่สำคัญอย่าติดข้อจำกัดระเบียบข้อกฎหมาย ในเวลาที่เผชิญเหตุภัยพิบัติ ชุมชนสามารถที่จะวางแผนและบัญชาการเหตุการณ์ได้เองก่อน
"ปัญหาสำคัญตอนนี้ คือชุมชนที่เป็นชุมชนเข้มแข็ง ผ่านการฝึกซ้อมแผนรับมือ หรือเป็นเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ 60 ชุมชน หรือ 10% ของภาคใต้ แต่พื้นที่เสี่ยงมีทั้งหมด 531 ตำบล ดังอยากจะฝากทุกหน่วยงานว่า ชุมชนไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ จริง ๆ หลักสูตร ปภ.ก็ดีนะ แต่ปี ๆ นึงอนุมัติงบฯ แค่ 20 ชุมชน ประเทศไทยมีอยู่กว่า 20,000 ชุมชน" โกเมศร์ กล่าว
รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ยอมรับจากข้อมูลที่ได้ตอกย้ำชัดเจนว่าภาคใต้กำลังเข้าสู่ "สังคมเสี่ยงภัย" หรือภัยพิบัติเต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นเฉพาะหน้า มีความเห็นว่า จะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ และเป็นข้อมูลที่ถูกส่งต่อจากหน่วยงาน และกลไกที่เกี่ยวข้องได้ โดยไม่ต้องร้องขอ ไม่ต้องทำหนังสือถึง ทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ ที่ทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด
ซึ่งสอดคล้องกับ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ ที่กล่าวว่า ภาคประชาสังคม ภาคเครือข่าย สสส. สช. มารวมกันให้ตัวใหญ่ และคุยกับการเมือง เพื่อวางนโยบายการสนับสนุนที่ตอบโจทย์ เพราะสิ่งที่เราเห็นวันนี้ ถ้าเราพร้อมกันขนาดนี้ ก็สามารถจัดการลดผลกระทบได้ และเห็นแล้วว่าภัยพิบัติแรงขึ้น แต่ความเสียหายก็ลดน้อยลงด้วยการจัดการรับมือ จึงเชื่อมั่นการสร้างเครือข่ายจัดการภัยพิบัติแบบนี้ และใน 10 - 20 ข้างหน้าจะดีกว่านี้
ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า การจัด Policy Forum ครั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในภาคใต้ ทั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลการแลกเปลี่ยนนี้ สู่แพลตฟอร์ม "Policy Watch" เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipbs.or.th/PolicyWatch นอกจากนี้ ทีมข่าว The Active Thai PBS ยังคงเกาะติดสถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ติดตามได้ในรายการตรงประเด็น ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 12.00 - 12.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
? Website : www.thaipbs.or.th ? Application : Thai PBS? Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin