เทศบาลนครนครราชสีมา เร่งยกระดับเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเพิ่มคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุน Thailand Smart City Expo 2024 ที่เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ถ่ายทอดประสบการณ์ และพบปะกับซัพพลายเออร์ชั้นนำ แนะจัดเวทีบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดอุปสรรคการทำงานของผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ
นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการโคราชสมาร์ทซิตี้ ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2564 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 37.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่ง ในเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ที่ได้ระบุไว้ในนโยบายและสอดคล้องกับกรอบตามที่ภาครัฐกำหนด เทศบาลนครนครราชสีมาจะเน้นในด้านการจราจรอัจฉริยะ , สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ และบริหารภาครัฐอัจฉริยะ เป็นตัวนำ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ จะช่วยผลักดันให้อีก 4 ด้าน เดินหน้าไปพร้อมกันทั้งด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ ด้านพลังงานอัจฉริยะ และด้านพลเมืองอัจฉริยะ โดยมีการเน้นย้ำถึง เมืองจะ SMART ต้องมี DATA ที่ชัดเจน ทั้งการจัดการ จัดเรียง และบูรณาการ ที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับการดำเนินชีวิตของประชากรในเมืองทุกด้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และปรับตัวรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ในอนาคต
โดยหลังจากที่ได้รับเลือกเข้ามาบริหาร ทางทีมผู้บริหารได้มอบนโยบาย รวมถึงพยายามและผลักดันโครงการต่างๆ จนในปี 2566 ทางเทศบาลนครนครราชสีมาได้รับประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) โดยช่วงแรกได้มีพัฒนาแอปพลิเคชันโคราชสมาร์ทซิตี้ใน Line และ Applicationทำให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเรื่องร้องทุกข์ได้โดยตรงและตรวจสอบสถานะร้องเรียนได้ มีสายด่วนถึงเจ้าหน้าที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของจุดต่าง ๆ ในเมืองผ่านกล้อง ซีซีทีวี การแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ สถานที่น่าสนใจ และจุดจำหน่ายสินค้า OTOP
ต่อมาในปี 2565 ได้จัดทำโปรแกรมจัดเก็บรายได้ค่าน้ำประปาอัจฉริยะ เพื่อความสะดวกในการชำระค่าน้ำประปา ตรวจสอบสถิติการใช้น้ำ ประวัติการจ่ายบิล ในปี 2566 จัดทำระบบร้องเรียนอัจฉริยะ และระบบกล้อง ซีซีทีวี เฟส 1 และในปี 2567 ได้จัดทำระบบเชื่อมต่อธนาคารและชำระค่าน้ำออนไลน์ , โคมไฟอัจฉริยะ ที่ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบจุดที่เสาไฟเกิดขัดข้อง , ระบบตรวจสอบระบบน้ำอัจฉริยะ ทำให้ตรวจสอบสถานะระดับน้ำแบบเรียลไทม์ จัดเก็บสถิติ เพื่อป้องกันภัยพิบัติทางน้ำ , โปรแกรมวิเคราะห์ปริมาณน้ำสูญเสียและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ประปาอัจฉริยะ , รวมถึงที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งระบบกรองน้ำคูเมืองอัจฉริยะ ที่ตรวจสอบคุณภาพของน้ำใน 6 ค่าที่สำคัญ และยังได้ศึกษาการจัดทำระบบจัดการโครงการไฟส่องสว่างอัจฉริยะ และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS และบริหารข้อมูลกลางอัจฉริยะ
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการจัดทำในปี 2568 คือ ระบบบริการประชาชนอัจฉริยะ , ระบบการขอรับบริการภาคประชาชนออนไลน์ , ระบบจัดการเอกสารออนไลน์ , ระบบจัดการบุคลากรออนไลน์ , ระบบแสดงและวิเคราะห์ปริมาณน้ำเสียออนไลน์ และระบบสำรวจข้อมูลที่ดินและทรัพย์สินสำหรับการพัฒนาเมืองและพัฒนาการจัดเก็บรายได้อัจฉริยะระบบจัดการเมือง (city data platform)
"ระบบต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และจัดเก็บข้อมูลในทุกด้าน เพื่อให้เทศบาลสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจ วางแผนพัฒนาการให้บริการ การป้องกันภัยพิบัติ และเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนจัดหาพื้นที่การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทุกด้านในอนาคต"
นอกจากนี้ ทางเทศบาลนครราชสีมา ยังได้อัพเดทความรู้ด้านสมาร์ทซิตี้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเข้าร่วมงาน Thailand Smart City Expo 2024 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ฮอลล์ 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และพบปะกับซัพพลายเออร์ด้านสมาร์ทซิตี้ ทำให้ทางเทศบาลสามารถปรับปรุงระบบอัจฉริยะต่างๆ ให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างตรงจุด โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลงาน Thailand Smart City Expo 2024 ได้ทางเว็บไซต์ www.thailandsmartcityexpo.com
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการจัดงาน Thailand Smart City Expo ในทุกปี อยากให้มีเวที หรือช่องทางที่เปิดให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเทศบาลเมือง ประชุมหารือและบูรณาการทำงานร่วมกัน เนื่องจากในขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะประสบปัญหาติดขัดในด้านกฎระเบียบของหน่วยงานต่างๆ อยู่มาก โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้ควบคุมการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ดูแลหน่วยงานดีป้า ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมด้านสมาร์ทซิตี้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยมีกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างหลายอย่างที่ยังไม่สอดประสานกับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เช่น หากเทศบาลต้องการซื้อซอฟต์แวร์ที่มีความเฉพาะเจาะจงในบางเรื่อง หรือเป็นซอฟต์แวร์ที่มีคุณลักษณะพิเศษแต่ไม่ตรงกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ก็ยังไม่มีช่องทางเพื่อหาทางออก ทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินงานของสมาร์ทซิตี้
"ในปัจจุบันมีระบบเอไอ และซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมากที่ใช้ในระบบสมาร์ทซิตี้ และมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ดังนั้นกระทรวง ดีอี จึงควรเข้ามาอบรมให้ความรู้กับกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง ให้ทั้ง 2 กระทรวงเข้ามาบูรณาการการทำงาน ซึ่งหากข้าราชการไม่แน่ใจ ข้อความในระเบียบไม่ชัดเจน ก็จะไม่ตัดสินใจอนุมัติ อนุญาตในเรื่องที่คลุมเครือเหล่านี้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ออกกฎระเบียบแต่ไม่มีคู่มือการใช้หรือการตีความที่ละเอียด ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้คำนิยามในข้อกำหนดเดิมตามไม่ทัน ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของเทศบาลเมืองต่าง ๆ ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงมหาดไทย , สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) , ดีป้า , สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาหารือเรื่องการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการบูรณาการการทำงาน และมีความรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างราบรื่น"