แม้ว่าฝุ่นละออง PM2.5 จะมีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ แต่ในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเช่นในกรุงเทพมหานคร กลับต้องพบกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีต้นเหตุหลักมาจากการใช้รถบนท้องถนน ซึ่งจากการศึกษาการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจากภาคการขนส่งทางถนน 51% ภาคอุตสาหกรรม 21% ครัวเรือน 10% เผาที่โล่ง 6% และอื่น ๆ อีก 12% โดยฝุ่นละออง PM2.5 จากภาคการขนส่งทางถนนส่วนใหญ่เกิดจากรถบรรทุก รถปิคอัพและรถบัส ที่ปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 รวมกันสูงถึง 44% และรถยนต์กลุ่มนี้จะมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ จึงมีอัตราการปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 ออกมามากที่สุด จากข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารถยนต์ยิ่งมีอายุการใช้งานยาวนานจึงมีโอกาสทำให้เกิดควันดำและมีฝุ่นละออง PM2.5 มากยิ่งขึ้นเช่นกัน
ควันดำจากรถยนต์ล้วนเต็มไปด้วยสารพิษร้ายต่าง ๆ นานา ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนโลหิต เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ จึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านควบคุมควันดำจากรถยนต์มาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงานพัฒนาระบบการตรวจวัดควันดำและระบบการตรวจสภาพรถยนต์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดควันดำเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด เจ้าของรถยนต์จำเป็นต้องดูแลรักษา ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา พร้อมทั้งหมั่นทำความสะอาดหม้อกรองอากาศ ตรวจเช็กการทำงานของเครื่องยนต์ ตั้งองศาการจุดระเบิดตามมาตรฐานของผู้ผลิต ตรวจสอบอุปกรณ์การฉีดน้ำมันเป็นประจำ ปรับแต่งหัวฉีดให้ฉีดน้ำมันได้อย่างเหมาะสม ตรวจสอบและทำความสะอาดระบบน้ำมันเชื้อเพลิง หลีกเลี่ยงการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เปลี่ยนเกียร์ตามความเร็วรอบของเครื่องยนต์ และตรวจสอบกำลังอัดในกระบอกสูบ เพื่อดูว่าเครื่องยนต์ที่ใช้งานอยู่สึกหรอหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้ลดน้อยลง ไม่ปล่อยควันดำเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้ หากรถยนต์ตรวจพบว่ามีควันดำเกินค่ามาตรฐาน จะถูกสั่งห้ามใช้รถชั่วคราว โดยเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองต้องนำรถไปปรับปรุงแก้ไข ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่ถูกสั่งห้ามใช้ชั่วคราว ซึ่งต้องปรับแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีควันดำเกินค่ามาตรฐาน ณ ศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป และเมื่อแก้ไขทำให้ควันดำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว จะสามารถแจ้งยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะชั่วคราว ณ สถานที่ยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจวัดค่าควันดำอีกครั้งหากพบว่าไม่ให้เกินมาตรฐาน จะยกเลิกคำสั่งและนำเครื่องหมายห้ามใช้ชั่วคราวออกจากรถให้ แต่หากยังตรวจพบค่าควันดำเกินกว่ามาตรฐาน ผู้ใช้รถจะต้องนำกลับไปแก้ไขและนำมาให้ตรวจใหม่อีกครั้งภายใน 30 วัน ซึ่งหากพ้นระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่ามีความผิดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 65 มีโทษตามมาตรา 102 ปรับไม่เกินห้าพันบาท
หากประชาชนพบเห็นปัญหาควันดำจากรถยนต์ดีเซล หรือรถยนต์ควันดำ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1650 กรมควบคุมมลพิษ หรือ แฟนเพจ "กรมควบคุมมลพิษ" ส่วนรถเมล์หรือรถบรรทุกควันดำ แจ้งที่สายด่วนกรมการขนส่งทางบก 1584 หรือ สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 หรือ แจ้งที่สายด่วนขสมก. 1348 หรือ หากพบควันดำในกรุงเทพมหานคร แจ้งที่สายด่วนกทม. 1555 หากผู้ใช้รถร่วมกันหมั่นตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์เป็นประจำ นอกจากจะช่วยให้รถยนต์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานไม่เกิดควันดำเกินค่ามาตรฐานแล้ว ยังช่วยให้ลดมลพิษทางอากาศ ลดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ลดโลกร้อน และช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้อีกด้วย