หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อประชาชนในวงกว้าง รวมถึงผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงเวลาประมาณเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคมของทุกปี หลายพื้นที่ในประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะฝุ่นพิษที่แผ่กระจายอยู่หลายพื้นที่
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุถึงสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาวิกฤตของปีที่ผ่านมา พบว่าภาพรวมของประเทศปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ลดลงร้อยละ 11 ซึ่งจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ดังนี้ พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 129 วัน เท่ากับปีที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 97 วัน ลดลงร้อยละ 5 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 113 วัน ลดลงร้อยละ 2 พื้นที่ภาคกลาง จำนวน 101 วัน ลดลงร้อยละ 7 พื้นที่ภาคตะวันตก จำนวน 84 วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 211
รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเตรียมรับมือสถานการณ์อย่างเข้มข้น พร้อมสื่อสารอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับพื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาที่วิกฤต ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ จึงได้จัดทำ "มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568" ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบมาตรการฯ และกลไกการบริหารจัดการ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมาตรการฯ ปี 2568 จะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาค
หรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด โดยมีแผนปฏิบัติการดังนี้
ระยะเตรียมการจัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด
การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา
การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง
การจัดการหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟในประเทศเพื่อนบ้าน
การบริหารจัดการภาพรวม จะเร่งรัดของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ PM2.5 มีนโยบาย Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต
นอกจากนี้ยังได้กำหนดเป้าหมายลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่าร้อยละ 25 และบริหารจัดการพื้นที่ป่าแปลงใหญ่รอยต่อไฟ 14 กลุ่มป่า (Cluster) ด้วยกลไกข้ามเขตป่าข้ามเขตปกครอง ลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรและพืชเป้าหมาย ร้อยละ 10-30 ควบคุมฝุ่นจากยานพาหนะและโรงงานในพื้นที่เมือง ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎระเบียบให้ลดลงร้อยละ 100 โดยตั้งเป้าลดค่าเฉลี่ย PM2.5 ลงร้อยละ 5-15 และควบคุมค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน 24 ชั่วโมงสูงสุดไม่เกินค่าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และลดจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานลงร้อยละ 5-10
นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษ ยังคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กระยะไกลล่วงหน้า โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration/NOAA) ประเมินไว้ว่าช่วงระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2567 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะ "ลานีญา" (La Nina) ซึ่งจะส่งผลให้ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่ไปถึงเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้การลุกลามจากการเผาไหม้เศษวัสดุชีวมวลไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์ภายใต้ปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" (สภาวะแห้งแล้ง) ประกอบกับการดำเนินการภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ที่จะสามารถควบคุมแหล่งกำเนิดที่มีนัยสำคัญได้ครบทุกมิติ จึงคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้ว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการดำเนินงานตามมาตรการฯ โดยเฉพาะการควบคุมการระบายฝุ่นจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ชุมชนและริมทาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ทั้งในมิติการส่งเสริมและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเตรียมพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุขและ Work From Home โดยประชาชนควรติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดผ่านแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งจะเป็นช่องทางการสื่อสารข้อมูลด้านฝุ่นละออง PM2.5 ที่ชัดเจนและถูกต้องจากกรมควบคุมมลพิษ เป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลฝุ่นได้อย่างรวดเร็วและสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ฝุ่นในทุกช่วงเวลา