ยอดตัวเลขการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บนเครื่องพีซีในไทยลดลง 2 %

ข่าวเทคโนโลยี Friday May 16, 2008 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บนพีซีของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2550 ลดลง 2 % จากปีพ.ศ. 2549 เช่นเดียวกับแนวโน้มทั่วโลกที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงในประเทศส่วนใหญ่
อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยคือ 78% อย่างไรก็ดีรายได้ค้าปลีกที่สูญเสียไปกลับเพิ่มขึ้นจาก 421 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 13,000 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2549 มาเป็น 468 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 14,500 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของตลาดพีซีและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
ส่วนใหญ่แล้ว อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงระหว่าง 1-2%
ในอินโดนีเซีย (84%) และมาเลเซีย (59%) อัตราการละเมิดลดลง 1% ในเวียดนาม อัตราการละเมิดที่ลดลง 3% มาอยู่ที่ 85% นับว่าลดลงมากที่สุดในภูมิภาคนี้ และหากดูจากผลการศึกษาครั้งนี้เวียดนามมีแนวโน้มที่จะหลุดจากตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในไม่ช้า
นี่เป็นข้อมูลสำคัญบางส่วนจากการศึกษาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีในประเทศต่างๆทั่วโลก ครั้งที่ห้า ที่เปิดเผยวันนี้โดยกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) องค์กรระดับนานาชาติที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โลก การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุม 108 ประเทศและการศึกษานี้ได้จัดทำอย่างเป็นเอกเทศโดยไอดีซี บริษัทศึกษาวิจัยตลาดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำระดับโลก
“การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์” มร. ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอกล่าว
“การลดการละเมิดลิขสิทธิ์ลงให้มากกว่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริโภค ผู้ขายและผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ในประเทศ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็ก และสังคมไทย”
“เมื่อมองถึงความพยายามในการปราบปรามการละเมิดสิขสิทธิ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเห็นความต่อเนื่องในประเทศไทย” มร. ซอว์นีย์เสริม “กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่งเปิดตัวโครงการรณรงค์ให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจครั้งสำคัญไปเมื่อเร็วๆนี้ เราเห็นความตั้งใจจริงของตำรวจไทยที่ใช้การปราบปรามเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งได้เห็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากภาครัฐออกมากล่าวสนับสนุนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของซอฟต์แวร์มากขึ้น หากความพยายามเหล่านี้ดำเนินต่อไป เราเชื่อแน่ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ต้องลดลงอีกและย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทย”
การศึกษาเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่า หากลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลงได้ 10% ภายในระยะเวลา 4 ปี จะก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ 2,100 ตำแหน่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมูลค่า 30,000 ล้านบาท และจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 1,650 ล้านบาทจากที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน
“เห็นได้ชัดว่าการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ” นางสาวศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ ประจำประเทศไทยกล่าว “แต่อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกันคือซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องนั้นเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้งานและธุรกิจ บริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์แท้ย่อมมีประสิทธิผลในการทำงานและความมั่งคงปลอดภัยของระบบที่สูงกว่า ซึ่งจะนำไปสู่ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นและชื่อเสียงที่ดีในตลาด”
ผลการศึกษาสำคัญอื่นๆมีดังต่อไปนี้
ใน 108 ประเทศที่ทำการศึกษา การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีลดลงใน 67 ประเทศ และเพิ่มขึ้นในเพียง 8 ประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดพีซีเติบโตสูงสุดในประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูง อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้น 3% เป็น 38% ในปีพ.ศ. 2550
ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ดังต่อไปนี้ ฮ่องกง (51%) อินโดนีเซีย (84%) มาเลเซีย (59%) ฟิลิปปินส์ (69%) สิงค์โปร์ (37%) เวียดนาม (85%) จีน (82%) อินเดีย (69%) เกาหลีใต้ (43%) ญี่ปุ่น (23%) และออสเตรเลีย (28%)
“การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ความพยายามในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมช่วยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลงได้ในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี การเพิ่มจำนวนเครื่องพีซีอย่างรวดเร็วในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูง ทำให้ตัวเลขการละเมิดลิขสิทธิ์รวมทั่วโลกสูงขึ้น” มร. จอห์น แกนทซ์ หัวหน้าทีมวิจัยของไอดีซีกล่าว “เราคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไป ซึ่งหมายความว่าทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐของประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ต้องเพิ่มความพยายามในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ให้มากขึ้น”
บีเอสเอมีแนวทางสั้นๆ 5 ประการ ที่รัฐสามารถนำไปใช้เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์และเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและสร้างความตระหนักในคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนความเสี่ยงของการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
ปรับปรุงกฏหมายลิขสิทธิ์ของประเทศให้เป็นไปตามข้อตกลงของ (ดับบริวไอพีโอ) เพื่อให้สามารถปราบปรามการละเมิดในรูปแบบดิจิตอลและออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จัดให้มีกระบวนการบังคับใช้กฏหมายตามข้อตกลง Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights Agreement (TRIPS) ที่เข้มแข็งตามที่องค์กรการค้าโลก (ดับบริวทีโอ) กำหนด รวมถึงกฏหมายต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้มงวด
จัดสรรทรัพยากรของรัฐให้เพียงพอเพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึง หน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือข้ามเขตแดน และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม
ปฏิบัติเป็นตัวอย่างโดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐใช้แต่ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องเท่านั้น
การศึกษาของบีเอสเอ-ไอดีซีครั้งนี้ ครอบคลุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปทั้งหมดที่ใช้งานบนเครื่องพีซี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็บท็อป หรือคอมพิวเตอร์พกพา การศึกษาครั้งนี้ไม่ครอบคลุมซอฟต์แวร์ประเภทอื่นๆ เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานบนเซิร์ฟเวอร์ หรือเมนเฟรม ไอดีซีใช้สถิติตัวเลขซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ตรวจสอบได้และยืนยันโดยนักวิเคราะห์ของ ไอดีซีในกว่า 60 ประเทศ
ผลการศึกษาฉบับเต็ม สามารถหาอ่านได้จาก http://www.bsa.org/globalstudy
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและ ถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮารด์แวร์ทั่วโลกต่อหน้ารัฐบาล ของประเทศต่างๆ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ สมาชิกบีเอสเอ ประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยี ผ่านโครงการเพื่อการศึกษาและนโยบายที่ส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การรักษา ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ การค้าและอีคอมเมิร์ส
สมาชิกบีเอสเอ รวมถึง อโดบี, อาจิเลนท์ เทคโนโลยี, อัลเทียม, แอปเปิ้ล, ออโต้เดสค์, อาวิด, เบนลี่ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, ซีเอ, คาร์เดนซ์ ดีไซน์ ซิสเต็มส์, ซิสโค ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, คอเรล, เดล, อีเอ็มซี, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ (ในเครือออร์โบเท็ค วาเลอร์ คัมปานี), เอชพี, ไอบีเอ็ม, อินเทล, ไอนัส เทคโนโลยี, แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, ไมเจ็ท, มินิแทบ, โมโนไทพ์ อิเมจิ้ง, พีทีซี, เคิร์ค, เควสท์ ซอฟต์แวร์, เอสเอพี, ซีเมนส์ พีแอลเอ็ม ซอฟต์แวร์, โซลิดเวิร์กส์, เอสพีเอสเอส, ไซเบส, ไซแมนเทค, ไซนอปซิส, เทคล่า, ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์, เดอะ แมธเวิร์กส์ และ เทรนด์ ไมโคร สมาชิกบีเอสเอในประเทศไทยคือไทยซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์ไพร์ส
เกี่ยวกับไอดีซี
ไอดีซีเป็นผู้ให้บริการข้อมูลตลาดระดับคุณภาพชั้นนำของโลก รวมทั้งบริการที่ปรึกษา และการจัดงานต่างๆสำหรับภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และตลาดเทคโนโลยีผู้บริโภค ไอดีซีช่วยให้มืออาชีพด้านไอที ผู้บริหารธุรกิจ และแวดวงการลงทุนมีข้อเท็จจริงประกอบการตัดสินใจซื้อเทคโนโลยี และกลยุทธ์ทางธุรกิจ นักวิเคราะห์ของไอดีซีกว่า 900 คน ใน 90 ประเทศ ให้บริการความเชี่ยวชาญในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ทางด้านเทคโนโลยี โอกาส และแนวโน้มทางธุรกิจ ไอดีซีมีประสบการณ์กว่า 43 ปีในการให้ข้อมูลเชิงกลยุทธ์แบบเจาะลึก เพื่อช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายหลักทางธุรกิจ ไอดีซีเป็นบริษัทในเครือไอดีจี ผู้นำระดับโลกในทางด้านสื่อเทคโนโลยี การวิจัย และการจัดงานต่างๆ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
อาทิมา ตันติกุล สุจิตรา ยิ่งเพิ่มมงคล
วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์ วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์
โทร +66 (0) 2684 1551 โทร +66 (0) 2684 1551
อีเมล์ artima@veropr.com อีเมล์ sujittra@veropr.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ