ไอบีเอ็ม-มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชี้นวตกรรมด้านบริการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก แนะนำ ควรเพิ่มเงินทุนสนับสนุนสองเท่าสำหรับงานศึกษาวิจัยด้านบริการ

ข่าวเทคโนโลยี Friday May 16, 2008 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--ไอบีเอ็ม
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และไอบีเอ็มเปิดเผยรายงานที่เรียกร้องให้รัฐบาล องค์กรธุรกิจ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพิ่มการสนับสนุนและเงินทุนสำหรับการสร้างสรรค์นวตกรรมทางด้านบริการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงระบบบริการต่างๆ ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน โดยทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เทคโนโลยี บุคลากร องค์กร และข้อมูลต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากการสัมมนาระหว่างประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนจากไอบีเอ็มและ BAE Systems โดยจัดขึ้นเมื่อช่วงฤดูร้อน ปีที่แล้ว รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้เพิ่มเงินทุนเป็นสองเท่าสำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบริการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก นักวิชาการและผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนำกว่า 100 คนจากประเทศต่างๆ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลในการจัดทำรายงานฉบับนี้
รายงานดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า “การประสบความสำเร็จโดยอาศัยนวตกรรมด้านบริการ” (Succeeding through Service Innovation) เน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่าในปัจจุบัน ระบบบริการต่างๆ เช่น การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร และสาธารณสุข นับเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่กลับขาดการสนับสนุนที่เพียงพอ เมื่อเทียบการศึกษาวิจัยเรื่องการผลิตและเทคโนโลยี รายงานฉบับนี้ระบุว่า จำเป็นที่จะต้องแก้ไขความไม่สมดุลดังกล่าว
องค์การแรงงานระหว่างประเทศของสหประชาชาติชี้ว่า ในปี 2007 งานบริการมีจำนวนแซงหน้างานในภาคเกษตรและการผลิตทั่วโลกเป็นครั้งแรก โดยในประเทศอังกฤษ 75 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานอยู่ในภาคบริการ ในขณะที่ภาคบริการของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ส่วนในประเทศไทยนั้น ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ตามรายงานในปี 2004 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ศาสตราจารย์ ไมค์ เกรกอรี หัวหน้าสถาบันเพื่อการผลิต คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งจัดทำรายงานร่วมกับไอบีเอ็ม กล่าวว่า “ปัจจุบัน รูปแบบธุรกิจกำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสมากมายสำหรับบริษัทและประเทศต่างๆ ที่สามารถผสานรวมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การผลิต และบริการเข้าด้วยกัน รายงานฉบับนี้กล่าวถึงแนวคิดล่าสุดในสาขานี้ในเวทีระหว่างประเทศ และนับเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรม และนักวิชาการ ในการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์นวตกรรมทางด้านบริการ”
คุณธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "ในปัจจุบัน ภาคบริการของไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว งานบริการให้ผลกำไรที่สูงกว่า ทั้งยังเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้แก่คนไทย ดังนั้นแต่ละองค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและเพิ่มศักยภาพให้แก่ตนเองในการตอบสนองความต้องการในตลาดบริการ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยจะต้องจัดทำแผนการพัฒนานวตกรรมทางด้านบริการ และนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม”
รายงานฉบับนี้เสนอคำแนะนำดังต่อไปนี้:
- มหาวิทยาลัย ควรนำเสนอหลักสูตรในสาขาวิชาวิทยาการการบริการ การจัดการ และวิศวกรรม (Service Science, Management and Engineering - SSME) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษากลายเป็น “นักสร้างสรรค์นวตกรรมที่ปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น” (Adaptive Innovator) โดยสามารถทำงานบริหารจัดการข้ามแผนกได้อย่างเหมาะสม
- นักวิจัย ควรปรับใช้แนวทางแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เพื่อแก้ไข ‘ปัญหาท้าทายสำคัญๆ’ ทางด้านธุรกิจและสังคม
- รัฐบาล ควรให้เงินทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยในสาขาวิชา SSME และทำงานร่วมกับแวดวงอุตสาหกรรมและแวดวงวิชาการเพื่อจัดทำแผนการพัฒนานวตกรรมทางด้านบริการ
- องค์กรธุรกิจ ควรจัดทำนโยบายการจ้างงานและแนวทางการพัฒนาอาชีพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริม ‘นักสร้างสรรค์นวตกรรมที่ปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น’ และจัดหาเงินทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางด้านบริการ
สำเนาฉบับอิเล็กทรอนิกส์ของรายงาน “Succeeding through Service Innovation” มีอยู่ที่ www.ifm.eng.cam.ac.uk/ssme
ข้อมูลติดต่อ:
กุลวดี เกษมล้นนภา
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทร. 02 2734013
อีเมล: kulwade@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ