เน็ตเบย์ ร่วมกับ กรมศุลฯ พร้อมให้บริการ e-Payment ผ่าน 8 แบงก์

ข่าวเทคโนโลยี Friday May 16, 2008 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--ออนไลน์ แอสเซ็ท
เน็ตเบย์ ร่วมกับ กรมศุลฯ ประกาศพร้อมให้บริการ e-Payment ผ่าน 8 แบงก์แล้วเปิดทางผู้ประกอบการจ่ายภาษีศุลกากรโดยวิธีหักบัญชีธนาคาร หนุนออกสินค้าได้รวดเร็ว ลดต้นทุนขนส่ง และเพิ่มการแข่งขันทางธุรกิจด้านผู้บริหาร เน็ตเบย์ ระบุ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยประเทศลดต้นทุน จีดีพีด้านโลจิสติกส์อยู่19-21%ในปัจจุบันได้
นางทิพวรรณ ศิระสากร ผู้อำนวยการ กลุ่มพัฒนาระบบนำเข้าสำนักเทคโนโลยีสานสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากรกล่าวในงานสัมมนา "Deutsche Bank e-Customs Payment" ว่าขณะนี้กรมศุลกากรพร้อมให้บริการจ่ายภาษีศุลกากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment แล้วเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกได้ชำระเงินโดยวิธีหักบัญชีธนาคาร เพื่อให้ออกสินค้าได้ในเวลาที่รวดเร็วโดยขณะนี้มีธนาคารที่พร้อมให้บริการ e-Payment กับกรมศุลกากรแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทย, ธนาคาร, ธนาคารซิตี้ แบงก์, ธนาคารซูมิโตโม, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารดอยซ์ แบงก์ รวมทั้งเร็ว ๆ นี้จะลงนามความร่วมมือให้บริการกับธนาคารไทยพาณิชย์
"ประโยชน์ของการใช้ระบบ e-Payment คือ รวดเร็ว ลดต้นทุน ไม่ต้องถือเงินสดและตรวจสอบข้อมูลได้ทันที ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าไม่มีปัญหาและสามารถออกของได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการอาจยังกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะไม่เคยชินกลัวว่าระบบนี้จะโดนแฮ็ค”
นางทิพวรรณ กล่าวต่อว่าปัญหาการรับส่งข้อมูลด้วยรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีด้วยกันหลายสาเหตุจึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเลือกซื้อซอฟท์แวร์ที่ดีและมีความเหมาะสมในการใช้งานขณะเดียวกันต้องตรวจสอบข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด และต้องปรับปรุงข้อมูลอยู่ตลอดเวลาซึ่งในอนาคตกรมศุลฯ จะเข้าไปตรวจสอบบริษัทซอฟท์แวร์แต่ละรายว่าเป็นอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อผู้ประกอบการอันจะเกิดปัญหาตามมายังศุลกากรในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมศุลฯกำลังพัฒนาโครงการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตซึ่งจะเป็นศูนย์บริการกลางหรือ Single Windows ชั่วคราว ที่จะเชื่อมโยงกับ 40 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตซึ่งขณะนี้ได้ลงนามความร่วมมือกับ 5 หน่วยงานแล้วได้แก่กรมการค้าต่างประเทศ, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมเชื้อเพลิงพลังงาน ,กรมธุรกิจพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการออกแบบคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ และในอนาคตจะยกระดับเป็น Single Windowsของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีที
นางสาววรเพ็ญ เหรียญศรีวงศ์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ฝ่ายบริการจัดการทางการเงินธุรกิจองค์กรธนาคารดอยซ์แบงก์กล่าวว่า ธนาคารดอยซ์ แบงก์ ได้เปิดให้บริการ e-Customs Payment ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมาเนื่องจากเห็นประโยชน์ของการชำระ เงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จะช่วยลูกค้าลดเวลาและต้นทุนโดย ดอยซ์ แบงก์ ได้ใช้บริการเกตเวย์จาก บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด ในการเข้าถึงระบบของกรมศุลกากร และในเบื้องต้นดอยซ์แบงก์ จะเปิดให้บริการ e-Customs Payment ในเวลา 09.00-17.30 น. ทุกวันทำการพร้อมกันนี้ ดอยซ์ แบงก์ ได้จับมือ บริษัท เน็ตเบย์จัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าโดยจะให้บริการฟรีตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2551 หลังจากนั้นจะคิดค่าบริการ 30 บาท ต่อ 1 ใบขนสินค้า
นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด กล่าวว่า การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันถูกบีบรัดด้วยราคาที่ต้องกดให้ถูกลงขณะที่ต้นทุนผู้ประกอบการพุ่งไม่หยุดโดยเฉพาต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกระทบจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีนโยบายบริหารจัดการให้ได้ ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าถ้าคู่แข่งเร็วกว่าถูกกว่าดีกว่าเราจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีต้นทุนค่าขนส่งถึง 19-21 % ของจีดีพีขณะที่ต่างประเทศมีสัดส่วนน้อยกว่า ดังนั้น e-Payment และ e-Logistics จึงถือเป็นเสาหลักแห่งกระบวนการลดต้นทุน ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะใช้เครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยี มาช่วยลดต้นทุนเพื่อการแข่งขันในธุรกิจ "กรมศุลฯ เป็นประตูบานใหญ่ของไทย สินค้าเข้า - ออกต้องผ่านที่นี่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก โชคดีที่กรมศุลฯ ผลักดัน e-Logistics แล้วเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้าสู่ระบบงาน เพราะช่วยลดต้นทุน ลดขั้นตอนลดเวลาของผู้ประกอบการซึ่งหากไม่มีระบบ อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย จีดีพี ด้านโลติกส์ของประเทศคงลดไม่ได้"นายพิชิตกล่าวในที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : คุณสุราช บุญจง (เอก)
Tel : 02-5549395 Mobile:081-9870490 Fax : 02-5549385

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ