สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลุยจัดโครงการพัฒนารูปแบบส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับวัยกลางคน และผู้สูงวัยในรูปแบบชีวิตใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยแพร่คู่มือการออกกำลังกาย สำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่ผู้สูงอายุ (วัยกลางคน) และคู่มือการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ณ เทศบาลตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสร้างการมีสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ผ่านกิจกรรมทางกายอย่างถูกต้อง
โดยภายในงานได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย พร้อมกิจกรรมบรรยายในหัวข้อ "สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ", "มาสร้างชีวิตที่ดีก่อนวัยสูงอายุ" พร้อมฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุและวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) จาก ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และคณะ และฟังบรรยายหัวข้อ "กินอย่างไรให้สุขภาพดี" จาก อ.ณัฐนรี กระบวนรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอ.ดร.นภสร นีละไพจิตร หัวหน้าภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี นางพรเพ็ญ กลิ่นกำธรกุล รองนายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ให้เกียรติร่วมกิจกรรม
โครงการพัฒนารูปแบบส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับวัยกลางคน และผู้สูงวัยในรูปแบบชีวิตใหม่ จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อมุ่งเน้นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง พร้อมสร้างเสริมความรู้ และแนะนำวิธีเกี่ยวกับการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมทางกายที่ถูกต้องเหมาะสม สำหรับบุคคล 2 ช่วงวัย ได้แก่ วัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) จำเป็นต้องมีหลักการออกกำลังกายที่เหมาะสม (FITT Principle) โดยแบ่งเป็น 4 ประการ ได้แก่ 1. ความถี่หรือความสม่ำเสมอในการออกกำลังกาย (Frequency) 2. ความหนักหรือความเข้มข้นในการออกกำลังกาย (Intensity) 3. ระยะเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง (Time) และ 4. ประเภทของการออกกำลังกาย (Type) โดยเน้นไปที่กล้ามเนื้อหลัก 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกล้ามเนื้อต้นขา, สะโพก, หลัง, หน้าท้อง, อก, ไหล่ และต้นแขน ซึ่งหลังจากการออกกำลังกายทุกครั้งควรตามด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มระยะการเคลื่อนไหว และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้
ด้านวัยผู้สูงอายุ จะสูญเสียความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ จึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ง่าย จึงจำเป็นต้องออกกำลังกายที่เหมาะสมทั้งรูปแบบ วิธีการ และระดับความหนักเบา ไม่จำเป็นต้องทำตามหรือเลียนแบบผู้อื่น การฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและความอ่อนตัวของข้อต่อในผู้สูงวัยนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในโปรแกรมการสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายโดยรวม (Total Body Fitness Program) เพราะจะสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บ และลดความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้
ทั้งนี้ โครงการฯ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ประชาชนกลุ่มวัยกลางคน (เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุ) และผู้สูงอายุ ได้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเหมาะสมกับช่วงวัยของตนเอง ซึ่งยังรวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายสามารถเข้าใจหลักการ พร้อมรักษาสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกวิธีเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพื่อมีสุขภาพที่ดี แข็งแรงเหมาะสมวัย
สำหรับหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับคู่มือการออกกำลังกายสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่ผู้สูงอายุ (วัยกลางคน) และคู่มือการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ได้ที่ edutainment.project999@gmail.com และผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับอีบุ๊ก (E-book) หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 095 - 318-7085