นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการความปลอดภัยเทศกาลลอยกระทงในวันที่ 15 พ.ย. 67 ว่า กทม. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงของ กทม. ประจำปี 2567 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นเตรียมการก่อนวันลอยกระทง ขั้นปฏิบัติการในวันลอยกระทง และขั้นปฏิบัติการหลังวันลอยกระทง รวมทั้งลดความเสี่ยงอันตรายจากการผลิต การสะสม การจำหน่าย การเล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ และได้มีประกาศ กทม. เรื่องมาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567 เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอยรับทราบถึงอันตรายของดอกไม้เพลิงและการเล่นโคมลอย รวมถึงบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพร้อมทั้งขอความร่วมมือสถานประกอบการ สถานบันเทิง และผู้จัดงานเทศกาลลอยกระทงให้ตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่จัดงานและแจ้งเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังการดูแลบุตรหลาน หรือเด็กอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ หรือพลัดหลง เป็นต้น
นอกจากนี้ สปภ. ได้จัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง บอลลูนไลท์ ถังดับเพลิง และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ประจำกองอำนวยการร่วมฯ บริเวณสถานที่จัดงานลอยกระทง รวมถึงสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาลอยกระทง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมเรือดับเพลิง ขนาดความยาว 38 ฟุต จำนวน 3 ลำ ลาดตระเวนตามแนวลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 และจัดเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยทางน้ำพร้อมเรือท้องแบน 1 ลำ และเรือสกูตเตอร์ 2 ลำ ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ร่วมกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมเจ้าท่า กองบัญชาการกองเรือลำน้ำ ตำรวจน้ำ มูลนิธิ และอาสาสมัคร ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุอุบัติภัยและสาธารณภัยในเทศกาลลอยกระทง สามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท. ได้จัดทำแผนดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยการจัดงานเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567 โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอก เช่น กรมเจ้าท่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจพร้อมวัสดุ - อุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ร่วมดูแล เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว การป้องปรามและควบคุมการเล่นดอกไม้ไฟ จุดพลุ โคมลอย ตามสถานที่จัดงาน ท่าเรือ โป๊ะ การอำนวยความสะดวกประชาชนด้านต่าง ๆ และเรือตรวจการณ์คอยวิ่งตรวจดูความปลอดภัยตามลำน้ำเจ้าพระยาตลอดเวลาอีกด้วย
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า สจส. ได้มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะที่มีการจัดกิจกรรมลอยกระทง จำนวน 29 สวน โดยมีกล้องที่ติดตั้งรวม 1,159 กล้อง และตรวจสอบให้สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ขณะเดียวกัน สจส. ได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ขอความร่วมมือตรวจสอบท่าเรือในพื้นที่เป็นประจำทุกปีก่อนช่วงเทศกาลลอยกระทง และติดตั้งป้ายจำกัดน้ำหนักบรรทุก และแก้ไขท่าเรือที่ชำรุด หรือไม่ปลอดภัยโดยจะปิดล้อมท่าเรือและติดป้ายห้ามใช้งาน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่าขอความอนุเคราะห์แจ้งผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารในกำกับของกรมเจ้าท่าให้เพิ่มความระมัดระวังและมีมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงกำชับมาตรการดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลวันลอยกระทงกับผู้บริหารจัดการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม คลองแสนแสบ ส่วนต่อขยายรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) และรถไฟฟ้า BTS ทั้งส่วนสัมปทานและส่วนต่อขยาย