กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส.เดินหน้าจัดทำประกันภัยพืชผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด คือ นครราชสีมา นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี และสระบุรี จำนวนกว่า 6,000 ไร่ หลังโครงการนำร่องให้ผลที่น่าพอใจแก่ทุกฝ่าย
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.และเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัย กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและธนาคารโลก ได้ร่วมกันศึกษาและจัดทำโครงการนำร่องประกันภัยพืชผลโดยใช้ดัชนีภูมิอากาศมาตั้งแต่ปลายปี 2548 โดยทำเป็นโครงการเสมือนจริงเพื่อให้ความรู้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกษตรกร เพื่อให้เข้าใจการวัดภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝน รวมทั้งให้บริษัทประกันภัยได้ทดสอบกระบวนการทำงาน ส่วนการประกันภัยจริงนั้นได้เริ่มในปี 2550 เฉพาะพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยพืชผลที่ได้รับการคุ้มครอง คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นพืชหลักของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว
นายธีรพงษ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อเกษตรกรเริ่มมีความคุ้นเคยและเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในปีนี้ ธ.ก.ส.จึงได้ขยายพื้นที่ประกันภัยสำหรับพื้นที่เพาะปลูกปี 2551 เพิ่มขึ้นอีก 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 324 ราย พื้นที่ที่เอาประกัน 6,689 ไร่ เบี้ยประกันภัยมี 2 อัตรา คือ ไร่ละ 80 บาท วงเงินชดเชยสูงสุดเฉลี่ย 350 — 875 บาทต่อไร่ และเบี้ยประกันไร่ละ 120 บาท วงเงินชดเชยสูงสุด 525 — 1,315 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ โดยจะจ่ายจริงตามความเสียหายในแต่ละช่วงคือ ช่วงเพาะปลูกระยะที่ 1 (30 วัน) ระยะที่ 2 (20 วัน) และระยะที่ 3 (30 วัน) เริ่มคุ้มครองแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมินจะใช้ปริมาณน้ำฝนสะสมที่วัดได้จากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันคุ้มครองที่กำหนด จากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปริมาณความต้องการน้ำของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ในแต่ละช่วงความคุ้มครอง หากเกิดภัยตามเงื่อนไขกรมธรรม์ บริษัทประกันจะจ่ายสินไหมชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส.ภายใน 20 วันนับจากการเกิดภัย
ทางด้านนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ.มีหน้าที่ในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยในด้านต่างๆ กล่าวคือ ด้านกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราดอกเบี้ยประกันภัย ได้แก่ การกำหนดแบบและข้อความในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และมีความหมายชัดเจน รวมทั้งการกำหนดนิยามที่ใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตีความด้านกฎหมายเมื่อเกิดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน นอกจากนั้นยังต้องควบคุมดูแลให้บริษัทใช้อัตราเบี้ยประกันภัยในอัตราที่เหมาะสมและอยู่ในอัตราที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ โดยปัจจัยที่นำมากำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ ดัชนีน้ำฝนและดัชนีความแห้งแล้ง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความเสี่ยงภัยที่แท้จริงและเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร ส่วนในด้านการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น เมื่อมีการเรียกร้องเกิดขึ้น สำนักงาน คปภ. มีหน้าที่ดูแลให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าชดเชยให้ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อย่างถูกต้อง เป็นธรรมและรวดเร็วเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างทันท่วงที
นายสุจินต์ หวั่งหลี นายกสมาคมประกันวินาศภัย ชี้แจงในท้ายที่สุดว่า สมาคมประกันวินาศภัย ในฐานะเป็นตัวกลางของภาคธุรกิจประกันภัย ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยและพิจารณาอัตราดอกเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมและสอดคล้อง โดยคำนึงถึงกำลังของเกษตรกรเป็นหลัก โดยเฉพาะในด้านของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการผลิต แต่ทั้งนี้ภาคธุรกิจจะต้องมีกำลังเพียงพอในการรับประกันภัยด้วย ทั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาและจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย โดยในขณะนี้มีบริษัทสมาชิกเข้าร่วมโครงการรับประกันภัยจำนวน 10 บริษัท คือ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยรับประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)