ไวรัส RSV ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

ข่าวทั่วไป Tuesday November 19, 2024 09:40 —ThaiPR.net

ไวรัส RSV ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

RSV (Respiratory Syncytial Virus)คือไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ โดยแพร่กระจายผ่านทางการไอหรือจาม พบมากในเด็กทารกและเด็กเล็ก อาการมีได้ตั้งแต่เป็นไข้หวัดธรรมดา จนถึงหลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม และแม้จะรักษาหายดีแล้วก็สามารถกลับเป็นใหม่ได้อีก มักระบาดมากช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว แม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ เมื่อติดเชื้อแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง เช่นปอดอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือภาวะหัวใจวายเฉียบพลันทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่รักษาโรคติดเชื้อจากไวรัสนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การป้องกันการติดเชื้อเช่นเดียวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจทั่วไป ได้แก่

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อไปโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
  • หากในบ้านมีคนป่วย ควรแยกตัว และงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
  • เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก และมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากไวรัส RSV ซึ่งผลของวัคซีนจะช่วยทำให้ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อได้

ประโยชน์ของวัคซีนป้องกัน RSV

  • ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ RSV
  • ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อRSV เช่นภาวะปอดบวม หลอดลมฝอยอักเสบ วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อ RSV ได้ถึง 94.6%
  • ลดอัตราการเสียชีวิตจาก RSV โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงสูง

ใครควรได้รับวัคซีนป้องกัน RSV : แนะนำฉีดวัคซีน 1 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีอาการรุนแรงหากได้รับเชื้อ RSV ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน
  • ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่นปอดอุดกันเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หรือหอบหืด
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับ หรือโรคไตเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นผู้ป่วยติดเชื้อเฮชไอวี และผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด

อาการข้างเคียงที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีน อาการที่พบได้บ่อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว ปวดศีรษะ ไข้ อ่อนเพลีย โดยส่วนใหญ่อาการจะมีเพียงเล็กน้อย และหายไปภายใน 2-3 วัน

ให้ความรู้โดย : แพทย์หญิงวัจนา ลีละพัฒนะ (แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ