สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) และ School of Management มหาวิทยาลัย Zhejiang (Zhejiang University School of Management) สองสถาบันชั้นนำด้านการสอนบริหารธุรกิจในเอเชีย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ และได้เปิดตัว "Zhejiang University School of Management-Sasin School of Management Regional Business Center" ที่ ศศินทร์ เมื่อเร็วๆ นี้
ศาสตราจารย์ เอียน เฟนวิค (Professor Ian Fenwick) ผู้อำนวยการศศินทร์ กล่าวว่า "ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการศึกษาด้านธุรกิจ การฝึกอบรมผู้บริหาร และการวิจัยด้านการจัดการในภูมิภาคนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้นำในอนาคต เตรียมความพร้อมให้พวกเขามีทักษะที่จำเป็นในการประสบความสำเร็จในตลาดโลกที่เชื่อมโยงกันในปัจจุบัน"
Professor Yuan ZHU, Chairman of the School Council, School of Management มหาวิทยาลัย Zhejiang กล่าวว่า "สถาบันของเราก่อตั้งเมื่อปี 2523 และมีอายุใกล้เคียงกับศศินทร์ เราทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสีสันให้กับการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและทางวัฒนธรรมในอาเซียนและประเทศอื่นๆ เราเชื่อว่าความร่วมมือนี้ถือเป็นบทใหม่ในมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งสอง และเป็นก้าวสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างจีนและไทย"
ความร่วมมือระหว่างศศินทร์ และ School of Management มหาวิทยาลัย Zhejiang มุ่งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่เน้นองค์ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ (Practice-grounded Business Education) ทั้งในหลักสูตรปริญญา หลักสูตรอบรมผู้บริหาร (Executive Education Programs) และหลักสูตร Double Degree สำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเสริมทักษะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมและทักษะการจัดการที่สำคัญให้แก่ผู้นำในอนาคต นอกจากนี้ความร่วมมือยังครอบคลุมการวิจัยร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านธุรกิจและการจัดการ
Regional Business Center นี้ อยู่ที่ชั้น 5 ของศศินทร์ เป็นความมุ่งมั่นของทั้งสองสถาบันในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ ศูนย์ใหม่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเป็นผู้นำด้าน Thought Leadership และเพิ่มโอกาสร้างความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างจีน ไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อไปในอนาคต