วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย หารือทวิภาคีกับนาย Yutaka Matsuzawa, Vice Minister for Global Environmental Affairs กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมี นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมหารือ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทั้งด้านคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการจัดการภัยพิบัติอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศ โดยผลการหารือที่สำคัญ คือ ไทยและญี่ปุ่นมีความยินดีต่อความเป็นพันธมิตรร่วมดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมเสริมสร้างความร่วมมือให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการเร่งให้เกิดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการพัฒนาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System : EWS) ที่ประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้สามารถรับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากยิ่งขึ้น.
ในวันเดียวกันนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. ทส. ได้มอบหมายให้ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับ Dr. Philipp Behrens, Head of the International Climate Change Initiative (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) พร้อมด้วย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมหารือ ถึงแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการจัดทำ NDC 3.0 การดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ทั้งโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ และโครงการในอนาคต โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าสู่การผลิตและการบริการที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Friendly Industries and Services) รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าเพื่อพัฒนาความร่วมมือจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Club ของประเทศไทย ซึ่งได้เปิดตัว Global Matchmaking Platform (GMP) อย่างเป็นทางการใน COP 29 ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความร่วมมือระหว่างสมาชิก .
นอกจากนี้ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้มีการหารือกับ Ms. Fam Wee Wei ตำแหน่ง Director of Carbon Mitigation Division and International Trade Cluster (Green Economy and Sustainability) Division กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศสิงคโปร์ ในประเด็นการจัดทำข้อตกลงการดำเนินงาน (Implementing Agreement) ภายใต้ความร่วมมือข้อ 6 ของความตกลงปารีส สำหรับความคืบหน้าจากการหารือ ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับทราบรายละเอียดของข้อตกลงการดำเนินงานฯ เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบาย และกลไกทางกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านกฏหมาย และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ไทยและสิงคโปร์จะปรับปรุงสาระสำคัญในรายละเอียดและรูปแบบการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะได้มีการลงนามในร่างข้อตกลงฯ ในอนาคตต่อไป