ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย หารือทวิภาคีกับนาย Yutaka Matsuzawa, Vice Minister for Global Environmental Affairs กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมี นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมหารือ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทั้งด้านคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการจัดการภัยพิบัติอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศ โดยผลการหารือที่สำคัญ คือ ไทยและญี่ปุ่นมีความยินดีต่อความเป็นพันธมิตรร่วมดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมเสริมสร้างความร่วมมือให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการเร่งให้เกิดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการพัฒนาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System : EWS) ที่ประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้สามารถรับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากยิ่งขึ้น.
ในวันเดียวกันนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. ทส. ได้มอบหมายให้ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับ Dr. Philipp Behrens, Head of the International Climate Change Initiative (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) พร้อมด้วย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมหารือ ถึงแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการจัดทำ NDC 3.0 การดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ทั้งโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ และโครงการในอนาคต โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าสู่การผลิตและการบริการที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Friendly Industries and Services) รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าเพื่อพัฒนาความร่วมมือจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Club ของประเทศไทย ซึ่งได้เปิดตัว Global Matchmaking Platform (GMP) อย่างเป็นทางการใน COP 29 ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความร่วมมือระหว่างสมาชิก.
นอกจากนี้ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้มีการหารือกับ Ms. Fam Wee Wei ตำแหน่ง Director of Carbon Mitigation Division and International Trade Cluster (Green Economy and Sustainability) Division กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศสิงคโปร์ ในประเด็นการจัดทำข้อตกลงการดำเนินงาน (Implementing Agreement) ภายใต้ความร่วมมือข้อ 6 ของความตกลงปารีส สำหรับความคืบหน้าจากการหารือ ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับทราบรายละเอียดของข้อตกลงการดำเนินงานฯ เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบาย และกลไกทางกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านกฏหมาย และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ไทยและสิงคโปร์จะปรับปรุงสาระสำคัญในรายละเอียดและรูปแบบการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะได้มีการลงนามในร่างข้อตกลงฯ ในอนาคตต่อไป