เมื่อวันที่ 21 พ.ย.67 เวลา 15.00 น. ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่ 2 โดยมี นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวขอบคุณ นายทวน ซีเกอร์ เจ้าหน้าที่นโยบายการต่างประเทศ กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์ โดยมี พ.ต.อ.สรพงษ์ นาคะโยคี ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทางหลวงชนบท นักวิชาการ องค์กรอิสระ ภาคีจักรยานเมือง และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 60 คน
นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับนโยบายการส่งเสริมการใช้จักรยาน ในถนน ซอย และมีแผนที่จะปรับปรุงให้มีทางเดิน ปั่น สะดวก ปลอดภัย เพื่อเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งให้สะดวก เช่น บริเวณริมคลองให้สามารถรองรับการเดิน ปั่นได้อย่างปลอดภัย หรือสร้างย่านจักรยานเพื่อการเดินทางได้ทั่วด้วยการเดิน การปั่นจักรยาน และการสัญจรทางเลือกอื่นๆ หากแต่การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการปรับปรุงเส้นทางจักรยานอย่างยิ่ง ความไม่เข้าใจและขาดองค์ความรู้ในข้อมูลของคนส่วนหนึ่งในสังคมทำให้การขับเคลื่อนเมืองให้เป็นเมืองสำหรับการเดินและการใช้จักรยานไม่สำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อถอดบทเรียนความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในลำดับต้น ๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการใช้จักรยาน โดยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจาก Dutch Cycling Embassy มาให้ความรู้และร่วมลงพื้นที่ให้เห็นสภาพที่แท้จริง เพื่อนำปัญหามาวิเคราะห์และหาแนวทางในการปรับปรุงเส้นทางเดินและจักรยานร่วมกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามแผนนโยบายของกรุงเทพมหานคร
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจรครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2567 โดยตลอดทั้ง 3 วัน ผู้เข้าร่วมการประชุมได้รับฟังการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจาก Dutch Cycling Embassy ในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น เรื่องการเชื่อมต่อการขี่จักรยาน (Connecting Cycling) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง และร่วมกันถอดบทเรียนความล้มเหลวในการจัดทำเส้นทางจักรยานในอดีต เรียนรู้ความสำเร็จจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมกันวางแผนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมนำเสนอรูปแบบการเดินทางโดยใช้จักรยานในเส้นทางกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้ ยังได้มีการจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ปั่นจักรยานร่วมกัน จากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย มายังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์ร่วมกัน ในการสำรวจเส้นทางจักรยาน เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการใช้จักรยานในการเดินทางในกรุงเทพมหานคร