FAO จัดงาน World AMR Awareness Week Food Fair 2024 รวมพลังลดปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ

ข่าวทั่วไป Friday November 22, 2024 17:04 —ThaiPR.net

FAO จัดงาน World AMR Awareness Week Food Fair 2024 รวมพลังลดปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันออก องค์การอนามัยสัตว์โลกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหภาพยุโรป USAID จัดกิจกรรมสัปดาห์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ "World AMR Awareness Week Food Fair 2024" ในวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2567 ที่สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ชี้ถึงผลกระทบจากการใช้สารต้านจุลชีพ ทั้งในส่วนบุคคล การผลิตอาหาร ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่รับผิดชอบในการใช้สารต้านจุลชีพที่ช่วยลด AMR

"อาหารเป็นเส้นทางการส่งต่อในการเกิดเชื้อดื้อยาที่สำคัญมาก มีทั้งปศุสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ผลไม้และผัก การแปรรูปอาหาร การใช้ยาต้านจุลชีพมากเกินไปในภาคเกษตรกรรมมีส่วนทำให้เกิดการดื้อยา รวมถึงการใช้ยาในการรักษาโรคในพืชผลในสัตว์และมนุษย์ งานนี้จึงจัดขึ้นในรูปแบบเทศกาลอาหาร เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ โดยเราได้รวมตัวกันในนามขององค์กรต่างๆทั่วโลก เพื่อยกระดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไข" David Sutherland เจ้าหน้าที่ Animal Health and Production Officer FAORAP กล่าว

ทั้งนี้ พิษภัยของการเกิดเชื้อดื้อยา บางชนิดไม่มียารักษาได้แล้วยังส่งผลกระทบต่อผู้ติดเชื้อจนมีอัตราการตายสูง หรือก่อให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนขึ้นกับผู้ที่มีอาการป่วยอยู่ก่อนแล้ว หากเชื้อดื้อยาอยู่ในร่างกายไม่ว่าจะเป็นคน หรือสัตว์ แม้จะไม่ได้ก่อโรคก็อาจแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

Rick Brown เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ สำนักงาน WHO ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องทำคือ เพิ่มความพยายามในการจัดหายาปฏิชีวนะชนิดใหม่เพื่อเป็นอาวุธต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพ นอกจากนี้ เราต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิด ซึ่งหากไม่สามารถหยุดยั้งโรคได้ อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ จึงควรให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนว่าเหตุใดจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการใช้

งานนี้ยังได้เชิญผู้ที่คร่ำหวอด จากการทำงานเชื้อดื้อยา ในไทยมาร่วมแชร์ประสบการณ์ ลดภัยคุกคามจากเชื้อดื้อยา โดย ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ยังน่าเป็นห่วงเพราะเกิดการแพร่อย่างกว้างขวาง คนทั่วไปอาจจะมีการดื้อยาในตัวโดยที่ไม่รู้ตัว การให้ความรู้ถึงผลกระทบในระยะยาวกับประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญ "ควรสร้างทางเลือก ในการใช้ตัวอื่นแทนยาปฏิชีวนะ ให้กับเกษตรกร เพราะถ้าใช้ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นวงจรเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนยาใหม่อยู่เรื่อย ทำให้การรักษายาวนานขึ้น ถ้ารักษาไม่ได้ก็เสียชีวิต วิธีที่จะลดเชื้อดื้อยาได้คือ 1. หากไม่จำเป็น ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะอาจไปทำลายแบคทีเรียในตัวเองได้ 2. ควรกินยาให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวะตัวเดิม 3. ไม่นำไปใช้ในทางที่ผิด หรือนำไปใช้ในการเกษตร ทำให้เกิดปัญหาตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ พืช นอกจากนี้ทาง อย. ควรมีระบบควบคุมการกระจายยาจากต้นทางไม่ให้แพร่กระจายอย่างไม่ถูกต้อง อยากให้ผู้บริโภคและผู้ที่ใช้บริการร้านยา ตระหนักว่าอย่างน้อยควรมีเภสัชกร การจ่ายยาต้องมีฉลากชื่อยาครบถ้วน เรื่องนี้เป็นกฎหมายแล้ว เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันในการป้องกันลงมือปฏิบัติจริง" ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าว

ทางด้าน ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอมุมมองว่า ผู้บริโภคต้องใช้สิทธิ์ของตัวเอง ในการเสาะหาที่มาของอาหารที่บริโภคว่ามีการใช้หรือมีการเลี้ยงสัตว์อย่างไร ในส่วนของการใช้ยาก็ต้องใช้ยาอย่างเหมาะสม ใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ ไม่ควรใช้ยาตามใจตัวเอง ในขณะที่ อำนาจ เรือนสร้อย เกษตรกรจากแทนคุณฟาร์มออร์แกนิก แนะนำในเรื่องใช้ยาให้ถูกวิธี สนับสนุน ส่งเสริม ระบบการผลิตอาหารที่ไม่มีการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะวิธี และสนับสนุน ส่งเสริม ระบบการผลิตอาหารที่ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจในงานนี้ยังมี การเสวนาและทอล์คโชว์จากผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ที่ร่วมนำเสนอมุมมองขององค์กรเกี่ยวกับภัยคุกคามของ AMR , นิทรรศการและงานวิจัย, ตลาดสินค้าปลอดสาร, เกมและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจภัยจากเชื้อดื้อยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ