กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับพันธมิตร ฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการห้องเรียนเคมีดาว จัดประกวดการทดลองเคมีย่อส่วนประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าประกวดสูงเป็นประวัติการณ์ เผยผลการส่งเสริมให้เด็กไทยเก่งวิทยาศาสตร์ตลอด 10 ปี มีนักเรียนกว่า 470,000 คน ได้เรียนวิชาเคมีอย่างมีคุณภาพด้วยการลงมือทดลองจริง และกำลังขยายต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมเผยชื่อทีมผู้ชนะประกวดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนประจำปี 2567
การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน หรือ DOW-CST Award ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว ด้วยความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ (CST) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศประจำปี 2567 ขึ้นที่อาคารทรูดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพมหานคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีทีมที่เข้ารอบสุดท้าย 36 ทีม จากจำนวนโครงงานการทดลองที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 213 โครงงานจาก 57 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยจำนวนผู้เข้าประกวด 820 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 60%
"โครงการห้องเรียนเคมีดาวได้ดำเนินงานต่อเนื่องกว่า 10 แล้ว เรามีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 1,200 แห่ง และอบรมคุณครูไปแล้วกว่า 2,100 คน รวมถึงมีการเปิดตัวเว็บไซต์ http://www.DowChemistryClassroom.com เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่แนวทางการเรียนการสอนด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น คุณครูและนักเรียนที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาได้ฟรีทันทีโดยไม่มีข้อจำกัด
"ในปีนี้เราได้รับใบสมัครจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่าจากการส่งเสริมปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คุณครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำองค์ความรู้ไปคิดค้น ต่อยอด และนำอุปกรณ์ที่ใกล้ตัวและหาได้ง่ายมาปรับใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน พัฒนาและย่อส่วนให้กลายเป็นการทดลองใหม่ ๆ ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างแท้จริง" นายเอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจร่วมทุน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว
ผลการแข่งขัน DOW-CST Award ประจำปี 2567 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบด้วย 1) รางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้แก่ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน จากโครงงานการทำความสะอาดเครื่องเงินจากสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยใช้หลักการของไฟฟ้าเคมี 2) รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเปร็งวิสุทธาธิบดี จ.ฉะเชิงเทรา จากโครงงานการผลิตและทดสอบคุณสมบัติของโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท 3) รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง และโรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร จ.ชัยภูมิ ได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท
ผลการแข่งขันในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 1) รางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้แก่ โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม จ.นราธิวาส จากโครงงานหวานระดับไหนให้ยีสต์ลองตรวจดู 2) รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพฯ จากโครงงานการแยกน้ำด้วยกระแสไฟฟ้าภายใต้อินดิเคเตอร์ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท 3) รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนสะเดา "ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์" จ.สงขลา และโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท
นอกจากนี้ โครงการฯ ได้มอบรางวัลพิเศษ หรือรางวัล Popular View จำนวน 1 รางวัล ให้กับทีมที่มียอดชมคลิปการทดลองสูงสุดบน YouTube ของ Dow Thailand โดยตัดสินจากยอดการชมวิดีโอเท่านั้น ได้แก่ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ซึ่งได้รับเงินรางวัลพิเศษ 8,000 บาท
คุณครูที่ปรึกษาของทั้ง 36 ทีม ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ จะได้รับสิทธิเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2025) ที่จะจัดขึ้นในปีหน้าพร้อมได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิกของสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และเป็นครูต้นแบบของโครงการฯ ซึ่งคุณครูที่ผ่านการฝึกอบรมภายใต้โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" จะสามารถนำชั่วโมงการอบรมบรรจุในการขอหรือเลื่อนวิทยาฐานะของครูผู้สอนได้ต่อไป
โครงการห้องเรียนเคมีดาว ไม่เพียงเพิ่มโอกาสที่เท่าเทียมในการทดลองเคมีให้กับเด็กไทยทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะใช้สารเคมีน้อย ช่วยลดของเสียจากการทดลอง อีกทั้งช่วยประหยัดพลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตและขนส่งอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ รวมทั้งสารเคมีจำนวนมากที่แต่ละโรงเรียนต้องใช้ ผู้ที่สนใจแนวทางการเรียนการสอนด้วยปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dowchemistryclassroom.com/