ดร.ศรายุทธ ตรีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืช สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช ม.แม่โจ้ (แพร่) ร่วมกับพนักงานสำนักงานปฏิบัติการภาคเหนือ ลงพื้นที่แปลงมะนาวบ้านยอด หมู่ 2 ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน เพื่อพัฒนาพื้นที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ การเพิ่มผลผลิตมะนาวนอกฤดู Social lab ปัจจุบันบ้านยอด หมู่ที่ 2 มีพื้นที่ปลูกมะนาวตาฮิติกว่า 589 ไร่ ซึ่งเกษตรกรได้รวมกลุ่มกันเป็น วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด มีกระบวนการผลิตได้รับมาตรฐาน GAP จำหน่ายให้บริษัทเอกชนเป็นรายได้หลักของคนในหมู่บ้าน
ในปี 2567 สถาบันปิดทองหลังพระ ได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร 8 ราย พัฒนาและยกระดับเพิ่มผลผลิตมะนาวในฤดูแล้งจำนวน 80 ต้น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่งมะนาวให้ได้ทรงพุ่มที่เหมาะสม การใช้สารพาโควบิวทราโซลชะลอการแตกยอด การใช้ปุ๋ย และการวางแผนระบบน้ำในแปลง
สำหรับการลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญมะนาวในครั้งนี้ ได้ติดตามการปลูกมะนาวตาฮิติ ในพื้นที่บ้านยอด ที่เป็นการปลูกลงดิน ในพื้นที่ธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญในช่วงหลังการใช้ปุ๋ยบำรุงและสะสมอาหารของมะนาว ที่ต้องการผลผลิตนอกฤดู คือ การงดน้ำ เพื่อสร้างความเครียดให้ต้นมะนาว ต้นมะนาวจะรู้สึกว่ากำลังอยู่ในสภาวะที่อาจไม่เหมาะสมกับการเติบโต ทำให้พืชเข้าสู่ระยะพักตัว (Dormancy) และพร้อมตอบสนองทันทีเมื่อมีการกระตุ้นด้วยน้ำหรือสารอาหาร ในการพัฒนาเป็นดอก
การแนะนำการใช้ปุ๋ยสูตร 13-0-46 (โพแทสเซียมไนเตรต) เพื่อกระตุ้นให้ต้นมะนาวแตกดอก หลังจากผ่านความเครียดจากการงดน้ำซึ่งจะส่งผลให้มะนาวออกดอกพร้อมกัน และสามารถควบคุมเวลาเก็บเกี่ยวได้ โดยเกษตรกรผู้เข้าร่วมจะเริ่มทำการพ่นปุ๋ยทันทีและจะทำการติดตามผลหลังจากฉีดพ่นอีก 7 วัน เพื่อกระตุ้นการแตกตาดอก หากยังไม่ได้ตามที่ต้องการ จะทำการให้ปุ๋ย 13-0-46 อีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่า หากมะนาวออกดอกภายในเดือน พฤศจิกายน จะยังทันการเก็บผลและส่งขายในเดือน เมษายน 2568
ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการผลิตมะนาว 1) การควบคุมและกักน้ำ เนื่องจากหากฝนตกติดต่อกันหรือมีความชื้นสูง ในช่วง ตุลาคม - พฤศจิกายน จะทำให้มะนาวไม่เครียดตามที่ต้องการ และไม่เข้าสู่ระยะพักตัว ในอนาคตอาจแก้ไขด้วยการคลุมแปลงด้วยพลาสติก 2) การตัดแต่งกิ่งต้องเริ่มภายในเดือนกรกฎาคม - ต้นสิงหาคม และเกษตรกรต้องเด็ดขาดในการปลิดดอกและผลมะนาว