บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกาศเดินหน้าโครงการ RECO Collective 2025 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิล การอัพไซเคิล และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์หันมาใช้วัสดุรีไซเคิล โดยเฉพาะเส้นใย rPET ที่มาจากการรีไซเคิลขวด PET 100% ในการออกแบบและผลิตสินค้ายั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่มีเป้าหมายร่วมในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในธุรกิจ
จากจุดเริ่มต้นในปี 2554 ภายใต้โครงการประกวด RECO Young Designer Competition โครงการ RECO Collective ได้พัฒนาและขยายขอบเขตจากวงการแฟชั่นไปสู่การรวมตัวของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน และสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อผสมผสานวัสดุหมุนเวียนอย่าง PET รีไซเคิล เข้ากับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่ง RECO Collective มุ่งเน้นแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์จากวัสดุรีไซเคิลและสามารถเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจ ผลักดันความยั่งยืนในระยะยาว และสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของวัสดุรีไซเคิลและการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรม สร้างอนาคตที่ดีกว่าผ่านความร่วมมือที่เปลี่ยนแปลงโลก
ทั้งนี้ โครงการ RECO Collective ปีที่ 2 ได้ขยายขอบเขตการทำงานไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่กว้างขวางขึ้นทั้งในด้านผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ที่มีความสนใจเรื่องการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการออกแบบและผลิต ตลอดจนขยายเครือข่ายผู้สนับสนุนที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน หลังจากประสบความสำเร็จในการร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลก ในโครงการ RECO Collective ปีที่ 1 จนสามารถนำสินค้าออกจำหน่ายในพื้นที่จำหน่ายสินค้าของ Ecotopia และ Dapper ได้เป็นอย่างดี โดยโครงการในปีที่ 2 นี้ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก อาทิ
- RECO Incubation Lab แพลตฟอร์มแบ่งปันความรู้ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ดีไซเนอร์ และ SMEs จะได้เรียนรู้กลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน ตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปจนถึงกลยุทธ์การขายและการตลาด
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยจับมือกับผู้ค้าปลีกและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม โดยมี Thai Taffeta ที่จัดหาผ้าที่ทำจากเส้นด้าย PET รีไซเคิล 100% เพื่อใช้ผลิตผลงาน พร้อมด้วย Jaspal Group ในฐานะผู้นำธุรกิจแฟชั่นไลฟ์สไตล์ระดับภูมิภาค ซึ่งได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ RECO Collective เป็นครั้งแรก รวมทั้ง Ecotopia และ Dapper ที่พร้อมให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ ความร่วมมือเหล่านี้ช่วยขยายผลกระทบของ RECO Collective ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
- ความพร้อมของผลิตภัณฑ์ในโครงการฯ โดยให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการเปิดตัวคอลเลคชั่นที่ยั่งยืนจากผู้ประกอบการ SMEs 6 แห่งที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ ได้แก่ กลุ่ม fashion design แบรนด์ tISI, Endless Holiday และ KH Editions รวมถึงกลุ่ม product design แบรนด์ Mobella, Anew.Craft และ Daybreak
นางอาราธนา โลเฮีย ชาร์มา รองประธานบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า "อิทธิพลของ RECO Collective ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงนักออกแบบ ธุรกิจ และผู้บริโภคที่มีความมุ่งมั่นในด้านความยั่งยืนร่วมกัน เรากำลังเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่กระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ แต่ยังปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้มีความรับผิดชอบ มีความร่วมมือและยั่งยืนมากขึ้นในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่าอีกด้วย ตั้งแต่การจัดหาวัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค RECO Collective เป็นตัวแทนของความมุ่งมั่นของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรีไซเคิล ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในด้านความยั่งยืน"
นางสาวกมลนาถ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการหลักสูตร RECO Incubation Lab กล่าวว่า "RECO Collective ไม่ได้เน้นเพียงแค่การให้ความรู้ในการผลิตและออกแบบเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ใหม่ และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อลดปัญหาการผลิตเกินจำเป็นและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่าน Incubation Lab ซึ่งเราให้ความรู้ มอบเครื่องมือ และสร้างเครือข่ายที่จะช่วยสนับสนุนดีไซเนอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าของพวกเขาจะเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้น และธุรกิจของเขาสามารถบูรณาการแนวปฎิบัติที่มุ่งเน้นความยั่งยืนได้จริง"
ด้วยความร่วมมือกับ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการและผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ RECO Collective เป็นโครงการสำคัญในการช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในประเทศไทยและต่างประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและแสดงให้โลกเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถมีทั้งความสวยงามและการใช้งานที่มีประสิทธิภาพได้