อพท. เดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่านการจัดการแข่งขันนวัตกรรมระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024 โดยมี 2 ทีมสุดครีเอต "I LAN YOR" และ "เกาะยอทอวิถี" คว้ารางวัลชนะเลิศ พร้อมนำผลงานลงทดสอบในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายสรวงษ์ เทียนทอง) ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ มีภารกิจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย อพท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงได้จัดกิจกรรมแข่งขันระดับชาติเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรม และยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการของชุมชนในพื้นที่พิเศษของ อพท. อีกด้วย
สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ภายใต้โจทย์ "นวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" โดยมีเงินรางวัลรวมมูลค่า 130,000 บาท โดยมีผู้สนใจจากทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 31 ทีม แบ่งเป็นประเภทนักเรียน/นักศึกษา 15 ทีม และประเภทประชาชนทั่วไป 16 ทีม โดยทีมชนะเลิศอันดับ 1 ของทั้ง 2 ประเภท ได้แก่ นวัตกรรม เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเกาะยอ "I LAN YOR" จาก ทีม I LAN YOR ประเภทนักเรียน/นักศึกษา และนวัตกรรม "กล่องนวัตกรรมสายน้ำแห่งวัฒนธรรมเกาะยอ" จาก ทีมเกาะยอทอวิถี ประเภทประชาชนทั่วไป
ผลงานนวัตกรรมที่ชนะเลิศของทั้ง 2 รุ่น ที่ได้จากการแข่งขันในครั้งนี้ อพท. ได้นำไปทดสอบจริงในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเลือกพื้นที่ในตำบลเกาะยอและโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ในอำเภอเมืองสงขลา เป็นพื้นที่ทดสอบผลงานนวัตกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และยังเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในความดูแลของ อพท. ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่ได้ร่วมทดสอบนวัตการมต่างระบุว่าเป็นนวัตกรรมที่แปลกใหม่ น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยพัฒนาและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทั้ง 2 ผลงาน ไปพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้ด้วย
ดร.เกรียงศักดิ์ รักษาเดช อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จากทีมชนะเลิศ "เกาะยอทอวิถี" ประเภทประชาชนทั่วไป กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้มีแนวคิดเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมเกาะยอที่เคยมีมาแต่ได้สูญหายไป ได้แก่ 1. ลอยแพสะเดาะเคราะห์ 2. ลากพระสรงน้ำ และ 3. แข่งเรือยาว ให้กลับมาในรูปแบบของเทศกาลทางวัฒนธรรม จึงนำรูปแบบของ "กล้องสเตริโอสโคป" หรือกล้องถ้ำมองมาต่อยอดผสมผสานกับเทคนิคภาพลวงตาแบบ Pepper Ghost ที่มักใช้ในบ้านผีสิงในงานวัดของไทย จนกลายเป็น "กล่องนวัตกรรมสายน้ำแห่งวัฒนธรรมเกาะยอ" ที่ช่วยให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมของเกาะยอได้ง่ายขึ้น ในอนาคตสามารถนำมาต่อยอดเป็นสื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจ หรือจัดทำเป็นของที่ระลึกเชิงนวัตกรรมจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้
นางสาวกันยากร คำพิทูล นักศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสรยุทธ หวังโส๊ะ นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนจากทีมชนะเลิศ เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเกาะยอ "I LAN YOR" ประเภทนักเรียน/นักศึกษา กล่าวว่า ผลงานนวัตกรรม I LAN YOR เป็น Creative Tourism นำเอาวิถีชีวิตชุมชนของคนบนเกาะยอมานำเสนอผ่านการเล่าเรื่องราวในรูปแบบของเส้นทางการท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวคิด คือ อยู่แต่สวน กวนในร่ม และ ห่มกลับบ้าน โดย "อยู่แต่สวน" คือการให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสวนของชาวบ้านในชุมชนเกาะยอ เพื่อเรียนรู้การปลูก การบ่ม ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับผลไม้บนเกาะยอ "กวนในร่ม" จะเป็นการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปภายในสวน ให้นักท่องเที่ยวได้ทำผลิตภัณฑ์ร่วมกับชาวบ้านและนำกลับไปเป็นของฝาก และ "ห่มกลับบ้าน" จะเป็นกรณีที่สวนผลไม้ร่วมมือกับกลุ่มผ้าทอบนเกาะยอ นำผ้าทอลวดลายประจำถิ่นที่โด่งดังอย่างลาย "ราชวัตถ์" มาใช้ในกิจกรรม หรือรังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของที่ระลึกกลับไป ซึ่งหากนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ จะเป็นการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่เชิงเกษตร ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในปัจจุบันให้ความสนใจมากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เชื่อมร้อยผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
การจัดการแข่งขันนวัตกรรมระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024 เป็นหนึ่งในภารกิจของ อพท. ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนให้กับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ เพื่อสร้างสรรค์เครื่องมือ และพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษต่อไป