"รมว.เอกนัฏ" บุกภาคเหนือ โชว์ปฏิรูปอุตสาหกรรม สั่งการ "ดีพร้อม" ส่งเสริมเกษตรแปรรูป ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น หนุนซอฟต์พาวเวอร์ ป้องกันภัยพิบัติ ดันอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพอย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 2, 2024 15:53 —ThaiPR.net

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้านโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะดวก โปร่งใส" สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เป็นศูนย์กลางการบริการทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีศูนย์บริการที่สำคัญเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เตรียมการรองรับปัญหาอุทกภัยด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติให้เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงได้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารและด้านแฟชั่น ด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA ผ่าน 3 แนวทาง คือ 1)สร้างสรรค์และต่อยอด 2) โน้มน้าว และ 3) เผยแพร่ ส่งต่อประสบการณ์ใหม่ผ่านมุมมองที่สัมผัสได้สไตล์ Local LANNA

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ไม่อาจคาดเดา มีความซับซ้อน และไม่ชัดเจนตลอดระยะเวลาหลายปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพแต่กลับมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรไม่มากนักจึงเหมาะกับเกษตรประณีตหรือเกษตรอินทรีย์ที่ใช้พื้นที่ และน้ำน้อยแต่ผลตอบแทนสูงซึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นและสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะดวก โปร่งใส" จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) พัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น อาทิ สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น (Crop) อาหารพื้นถิ่น (Food) หัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft) สมุนไพรประจำถิ่น (Herb) และวัสดุพื้นถิ่น (Material) ด้วยการประยุกต์ ใช้ทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา นวัตกรรม และเทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่สร้างโอกาสทางการตลาดและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้ผ่านการสร้างแบรนด์และนำเสนอเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิต ตลอดจนขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองและเป็นการกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยอย่างทั่วถึง อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค (Local Economy) ได้อย่างยั่งยืน

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า โกโก้ เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่อีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจของภาคเหนือ ที่สามารถผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลได้ รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมี่ยม อาทิ โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต โดยการใช้ "อุตสาหกรรมนำ" เช่นเดียวกับกรณีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ผ่านแนวทางการเติมศักยภาพยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ ชา หรือกาแฟ ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันระดับเวทีโลก เพื่อดึงให้เกิดการเพาะปลูกและผลิตสินค้าเกษตรของพื้นที่ที่มีคุณภาพพร้อมมีตลาดรองรับ ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ" ที่สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม รีสอร์ท และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจนตลอดทั้งห่วงโซ่

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีเป้าหมาย "เป็นองค์กรนำวิสาหกิจภาคเหนือตอนบนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์" โดยมีการดำเนินการทั้งในด้านวิชาการ คิดค้นรูปแบบ หลักสูตรเพื่อสร้างต้นแบบการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการบริการทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ และในด้านการปฏิบัติ ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจให้มีขีดความสามารถสอดคล้องกับความต้องการและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของพื้นที่ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ

ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA เพื่อพัฒนาเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ของรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ของประเทศในการยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สามารถสร้างมูลค่าและรายได้ โดยดีพร้อมได้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารและด้านแฟชั่น ด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA ผ่าน 3 แนวทาง คือ 1) สร้างสรรค์และต่อยอด 2) โน้มน้าว และ 3) เผยแพร่ ซึ่งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้ชูเรื่องการพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร โดยการ "สร้างสรรค์" วัตถุดิบล้านนาสู่สินค้ามูลค่าสูง วัตถุดิบ Local สู่ทางเลือกสุขภาพ สมุนไพร Local สู่สารสกัดเลอค่า และ Hyper Local Taste รสชาติท้องถิ่นที่กินสะดวก "โน้มน้าว" ให้มาสัมผัสวิถีล้านนา และ "เผยแพร่" ผ่าน Influencer ส่งต่อประสบการณ์ใหม่ผ่านมุมมองที่สัมผัสได้สไตล์ Local LANNA

นางสาวณัฏฐิญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาของอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ จึงได้เร่งดำเนินการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พร้อมจับมือกับภาคเอกชน ผลิตแผ่นป้องกันน้ำท่วมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตจากวัสดุคอมโพสิต หรือขยะพลาสติก และเตรียมขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงเร่งฟื้นฟูสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบผ่านการซ่อมแซมเครื่องจักร และบูรณะสถานประกอบการ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศยังได้พัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมต่อยอดงานวิจัยเกราะกันกระสุนผสมใยกัญชงให้ได้มาตรฐานและขยายผลเชิงพาณิชย์ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 50 และได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการให้คำปรึกษาแนะนำและแก้ไขให้สายพานที่ติดมากับหุ่นยนต์กู้ภัยจากต่างประเทศมาออกแบบทำใหม่ทดแทนตัวเก่า รวมทั้งสนับสนุนการสร้างเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานต์รบ อุตสาหกรรมต่อเรือ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น

"การขับเคลื่อนการพัฒนาในเชิงพื้นที่ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบและกลไกการทำงานที่สามารถจัดการกับประเด็นปัญหาหรือความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ด้วยการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ประกอบการร่วมกัน ด้วยการเชื่อมโยงกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน SME และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับศักยภาพและสร้างโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในภาพรวม" นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ