นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า ตามที่ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ แจ้งเตือนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีอัตราการระบายอากาศต่ำและอาจทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศเพิ่มขึ้น ระหว่างวันนี้จนถึงวันที่ 6 ธ.ค. 67 นั้น กทม. ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ตลอดทั้งปีและในช่วงวิกฤตฝุ่น โดยมาตรการเร่งด่วนของ กทม. ในการรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงดังกล่าว แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ การพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 7 วัน การรายงานและแจ้งเตือนให้สาธารณชนทราบ 3 รอบเวลา ได้แก่ 07.00 น 11.00 น. และ 15.00 น. พร้อมแจ้งเตือนผ่าน Line Alert (เพิ่มเพื่อนได้โดย @linealert) เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานทุกพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล 2) มาตรการควบคุมแหล่งกำเนิด ได้แก่ เข้มงวดตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ การตรวจวัดควันดำจากยานพาหนะ การส่งเสริมการบำรุงรักษารถยนต์ลดการปล่อยมลพิษภายใต้โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากสถานประกอบการ/โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ก่อสร้างทุกประเภท และการเผาในที่โล่ง และ 3) มาตรการดูแลป้องกันสุขภาพประชาชน ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 (ฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มากกว่า 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก. /ลบ.ม.)
นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันตนเองแก่ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com เพจเฟซบุ๊ก "กรุงเทพมหานคร" "กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง" "สำนักสิ่งแวดล้อม" รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และติดตามทางแอปพลิเคชัน AirBKK ขณะเดียวกัน สำนักอนามัย กทม. ได้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้ง 69 ศูนย์ฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง สำนักการแพทย์ กทม. เปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาล สังกัด กทม. เพื่อให้บริการรักษาและคำแนะนำวิธีการป้องกันดูแลตนเอง อีกทั้งมีมาตรการเชิงรุกในการจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นภายในโรงเรียนสังกัด กทม. 429 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. 271 แห่ง เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ตลอดจนจัดมาตรการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมในช่วงที่พบปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 สูง งดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนเสริม หรือชดเชย หากจำเป็นต้องหยุดเรียน และได้กำชับเน้นย้ำเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของ กทม.ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง หรือมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่นละอองในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 เพื่อป้องกันอันตรายและความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายขณะปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสีแดง คือ มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จำนวน 5 เขต ประกอบกับมีการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วันว่า ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 จะอยู่ในระดับ สีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต และมีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร (ตร.ม.)/วินาที รวมถึงมีทิศทางลมมาจากทางตะวันออก กทม. จะประกาศขอความร่วมมือเครือข่าย Work from Home ให้เจ้าหน้าที่และพนักงานปฏิบัติงานในที่พักโดยกรอกข้อมูลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายทางกูเกิลฟอร์มออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 และลดความหนาแน่นของการจราจร เพื่อลดการสะสมของฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด และดำเนินการตามมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ (Low Emission Zone) โดยห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้นรถประเภท EV, NGV, EURO 5 - 6 และรถที่มีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ โดยการลงทะเบียนใน "บัญชีสีเขียว (Green List)" ซึ่งเปิดให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 เป็นต้นไป โดยกรอกข้อมูลทางกูเกิลฟอร์มออนไลน์และจะมีผลบังคับใช้เมื่อสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในขั้นวิกฤต ตามเงื่อนไขดังกล่าว โดยจะออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายในการควบคุม และกำกับดูแลแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ได้แก่ สถานประกอบกิจการ (กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) เช่น กิจการคอนกรีตผสมเสร็จ กิจการหลอมโลหะ กิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (ที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและน้ำมัน) เป็นต้น โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน/ท่าทราย สำหรับในปีงบประมาณ 2568 ได้ตั้งเป้าหมายการตรวจฝุ่น PM2.5 แหล่งกำเนิด-โรงงาน คือ จำนวนสถานประกอบการกว่า 3,000 แห่ง คิดเป็นจำนวน 9,000 ครั้ง/ปี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบแหล่งกำเนิดดังกล่าวตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 โดยเน้นกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูง อาทิ กิจการคอนกรีตผสมเสร็จ (แพลนท์ปูน) ซึ่ง สนอ. ได้กำหนดแผนดำเนินการสุ่มตรวจร่วมกับสำนักงานเขตในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. 67 โดยได้ตรวจสอบและแนะนำข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้องในมาตรการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่แพลนท์ปูนไปแล้ว 9 แห่ง จากจำนวนแพลนท์ปูน 114 แห่ง โดยสำนักงานเขตจะต้องตรวจอย่างน้อยเดือนละ1 ครั้ง ให้ครบทุกแห่งในพื้นที่
สำหรับแผนปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ได้จัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 - 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่มารับบริการตรวจรักษาจากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 66 - 31 ต.ค. 67 จำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 51,432 ราย
นอกจากนี้ สนอ. ยังได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ให้แก่สำนักงานเขต 50 เขต จำนวน 200,000 ชิ้น ในช่วงกลางเดือน พ.ย. 67 เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน และประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตนอกอาคาร เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยขณะนี้ได้แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 30,850 ชิ้น พร้อมทั้งแจกให้กับผู้ป่วยที่ใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง และผู้ป่วยตอนเยี่ยมบ้านและการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วย