จาก Carbon Neutrality สู่ Net Zero คู่มือสร้างความยั่งยืนยุคคาร์บอนต่ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 4, 2024 17:11 —ThaiPR.net

จาก Carbon Neutrality สู่ Net Zero คู่มือสร้างความยั่งยืนยุคคาร์บอนต่ำ

ด้วยภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราได้รับผลกระทบกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ถือเป็นวิกฤติการณ์ที่ไม่อาจมองข้าม หลายภาคส่วนจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการหันไปจัดการกับตัวการหลักอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เกิดเป็นเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับและกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการไปสู่เป้าหมาย นั่นก็คือ Carbon Neutrality หรือ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" และ Net Zero Emissions หรือ "การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์" เพื่อไม่ให้ภาวะโลกเดือดรุนแรงไปมากกว่านี้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน และชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกัน ก็ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบธุรกิจขององค์กรด้วย

เป้าหมาย Carbon Neutrality คืออะไร

Carbon Neutrality หรือ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" เป็นเป้าหมายที่มุ่งเน้นที่จะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ให้เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดกลับคืนมา โดยผ่าน 3 กลไกสำคัญ คือ "ลด" การปล่อยคาร์บอน เช่น ใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล "ดูดกลับ" คาร์บอนคืนจากชั้นบรรยากาศ เช่น การทำโครงการปลูกป่า เพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ หรือการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำมาเก็บไว้หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และ "ชดเชย" การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต สำหรับประเทศไทย ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ไว้ภายในปี ค.ศ. 2050

เป้าหมาย Net Zero Emissions คืออะไร

Net Zero Emissions หรือ "การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์" เป็นสภาวะการเกิดสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับ "ก๊าซเรือนกระจก" โดยเป็นเป้าหมายที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดอย่างเป็นระบบทั้งกระบวนการผลิต และอาจใช้การชดเชยในส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น มี Net Zero Pathway หรือก็คือ การมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นแนวทางที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับมา มีค่าเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกไปก่อนหน้านั่นเอง

Net Zero Emissions เป็นเป้าหมายที่จะลดและกำจัด "ก๊าซเรือนกระจก" ในระยะยาว จนทำให้โลกเข้าสู่ภาวะสมดุล หากองค์กรหรือประเทศใดในโลกสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้ ก็แปลว่าสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้ โดยประเทศไทย ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไว้ภายในปี ค.ศ. 2065

เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions แตกต่างกันอย่างไร

แม้ว่าเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะคล้ายคลึงกันในแง่ที่เป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก แต่เป้าหมายและวิธีการของทั้งสองแตกต่างกัน

Net Zero Emissions จะมีความท้าทายมากกว่า Carbon Neutrality เพราะ Net Zero Emissions จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ มีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ กล่าวคือ หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็จะต้องมีกิจกรรมที่ลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเช่นกัน และไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตได้

ในด้านวิธีการ Carbon Neutrality จะใช้วิธีการลดการปล่อยคาร์บอน และชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยอาจเป็นเป้าหมายระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ ทว่า Net Zero Emissions จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ที่ส่งผลต่ออุณหภูมิของโลก และใช้วิธีกำจัดก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน Net Zero Emissions จึงเป็นการดำเนินการที่มีขอบเขตกว้างและทำได้หลากหลายกว่า Carbon Neutrality และต้องควบคุมไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นจนจบห่วงโซ่การผลิต

อย่างไรก็ตาม Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นเป้าหมายเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ Net Zero Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพราะฉะนั้น เราจึงมักจะเห็นว่า Net Zero Emissions เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ทำกันในระดับประเทศมากกว่า

การตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions สำคัญอย่างไรต่อองค์กร

เมื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นเร่งด่วน ทำให้องค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ การตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จึงเป็นมากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม แต่เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความยั่งยืนและความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ

  • สร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร
  • การใส่ใจในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล เป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืน (ESG) การตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมลดผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลไปถึงสังคมโดยรวม และการบริหารธุรกิจขององค์กร

    โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการความเสี่ยง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความต่อเนื่องของธุรกิจ เช่น ความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และการดำเนินธุรกิจจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนตามกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์กรต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นลดการทำงานที่ไม่จำเป็นเพื่อประหยัดพลังงาน และใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อควบคุมไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ มิเช่นนั้นจะขัดต่อกฎระเบียบและต้องรับผิดชอบค่าปรับต่าง ๆ จึงอาจเพิ่มต้นทุนสำหรับองค์กรที่ไม่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

  • สร้างความน่าเชื่อถือ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และดึงดูดนักลงทุน
  • การตั้งเป้าหมายเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตอบสนองความคาดหวังของนักลงทุนยุคคาร์บอนต่ำได้ ด้วยนักลงทุนสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติด้าน ESG ซึ่งต้องการเห็นองค์กรต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน การตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ชัดเจน จะสร้างความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร เป็นการแสดงจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวก ทำให้ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชื่อมั่นในองค์กรมากขึ้น และการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืนก็จะช่วยให้องค์กรมีความโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วย

    ไม่เพียงเท่านั้น ยังเพิ่มโอกาสการค้าขายกับคู่ค้ารายใหญ่ เช่น บริษัทข้ามชาติ หรือองค์กรที่เน้น ESG เพราะองค์กรเหล่านี้มักจะเลือกซัพพลายเออร์ที่มีเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions เช่นกัน เนื่องด้วยองค์กรรายใหญ่ก็จำเป็นที่จะต้องมีจุดยืนในเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตนเองในตลาด

  • เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
  • ตลาดยุคสังคมคาร์บอนต่ำ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีความตระหนักและให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าหรือบริการที่มีจุดยืนเรื่องความยั่งยืน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากองค์กรมีเป้าหมายเรื่อง Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions จะมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคจำนวนมากให้การตอบรับและสนับสนุน มีโอกาสขยายตลาดและดึงดูดลูกค้าที่ต้องการสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถลดต้นทุนได้ในระยะยาว จากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทรัพยากร หรือลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในระยะยาวด้วยเช่นกัน

  • ตอบสนองต่อแนวโน้มและนโยบายระดับโลก
  • เนื่องจากปัญหาโลกร้อน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เป็นวาระระดับโลกที่นานาชาติพยายามหาทางออกร่วมกันำม่ว่าจะเป็นการลงนามความร่วมมือต่าง ๆ หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ทำให้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายขับเคลื่อนให้องค์กรต่าง ๆ ใช้เดินหน้าไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับข้อตกลงและเป้าหมายระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น

    • พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ที่มีสาระสำคัญเรื่องการกำหนดเป้าหมายให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ต่ำกว่าระดับฐานปี ค.ศ. 1990 ตามเป้าหมายเฉพาะประเทศที่กำหนดไว้ในเอกสาร โดยประเทศสมาชิกต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและติดตามความก้าวหน้าในระดับสากล เพื่อแสดงความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
    • ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) สาระสำคัญคือ จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2?C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และก้าวไปสู่ความพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5?C เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงกำหนดให้ประเทศภาคีต้องจัดทำเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทบทวนทุก 5 ปี พร้อมทั้งร่วมมือกันแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วน
    • เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 "Climate Action" สนับสนุนการลงมือทำเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม พัฒนาเทคโนโลยี
  • การที่องค์กรจะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emission ได้นั้น การลดการใช้พลังงาน ลดการใช้ทรัพยากร ดูดกลับด้วยการปลูกป่า หรือชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณมากขนาดนั้น ส่วนใหญ่จึงต้องมีการลงทุนในนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม หรือการใช้วัตถุดิบที่ได้จากโครงการลดและชดเชยคาร์บอน สามารถนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถขยายตลาดและสร้างความแตกต่างได้ เนื่องจากต้องมีการคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด จึงจะสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์กรให้มีนวัตกรรมใหม่ได้

    จะเห็นว่าการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) นับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และองค์กร เนื่องมาจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั่วโลก เป้าหมายทั้ง 2 นี้จะช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม เยียวยาโลกให้กลับสู่ภาวะปกติ สามารถรองรับการเติบโตของประชากรและความต้องการในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

    บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com

    ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID : @apollothailand


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ