"สิทธิเด็กกับการคุ้มครองทางกฎหมาย: 10 ข้อห้ามที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม"

ข่าวทั่วไป Friday December 6, 2024 08:15 —ThaiPR.net

"สิทธิมนุษยชน" คือ สิทธิที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน เป็นสิทธิธรรมชาติที่ไม่มีใครพรากไปจากเราได้ มีความเป็นสากล ไม่มีพรมแดน และไม่แบ่งแยกด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ศาสนา ภาษา เผ่าพันธุ์ ทรัพย์สิน กำเนิด สถานะ หรือความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่นใด

วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ไม่เพียงแต่เป็น "วันรัฐธรรมนูญ" ของประเทศไทย แต่ยังเป็นวันที่ทั่วโลกต่างยกย่องให้เป็น "วันสิทธิมนุษยชนสากล" ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นขององค์การสหประชาชาติในการปกป้องศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ทุกคน

โดยภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรอง "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) เพื่อเป็นกรอบในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน โดยปฏิญญาดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่สุดของโลกที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของทุกคนในฐานะมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ จากนั้นเป็นต้นมา ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถูกนำไปใช้เป็นรากฐานของการวางระบบกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนแต่ละประเทศ ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แล้วมากกว่า 500 ภาษาทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยในส่วนของสิทธิเด็กนอกจากสิทธิเด็ก 4 ด้านตามอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก 54 ข้อ ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันมาบ้าง ประเทศไทยยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งให้ความคุ้มครองแก่เด็ก รวมถึงการสงเคราะห์ การพัฒนาและฟื้นฟู โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดู และมีพัฒนาการที่เหมาะสม รวมถึงป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรม หรือกลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 มี "10 สิ่งที่ทุกคนไม่ควรกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม" โดยนอกจากเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติต่อเด็กแล้ว ยังเป็นข้อปฏิบัติที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายด้วย

10 สิ่งที่ห้ามกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กอันเป็นจุดเริ่มต้น ของการปลูกฝังให้เด็กรู้จักสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น

1.ห้ามทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก

2.ห้ามละเลยการดูแลพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งการดำรงชีวิตหรือรักษาพยาบาล

3.ห้ามบังคับส่งเสริมให้เด็กประพฤติไม่เหมาะสม

4.ห้ามโฆษณายกเด็กให้บุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาต

5.ห้ามใช้เด็กเป็นเครื่องมือขอทานหรือกระทำผิด

6.ห้ามจ้างงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก

7.ห้ามบังคับให้เด็กเล่นกีฬาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่ขัดขวางพัฒนาการ

8.ห้ามให้เด็กเล่นการพนันหรือเข้าไปในสถานที่ห้ามมิให้เด็กเข้า

9.ห้ามบังคับให้เด็กกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร

10.ห้ามจำหน่ายสุราหรือบุหรี่ให้แก่เด็ก

อ่านต่อเพิ่มเติม https://www.sosthailand.org/blog/10-things-not-to-do-with-children


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ