สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดการอบรมหลักสูตร Family Business Thailand รุ่น 3 ณ วินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม พร้อมถอดบทเรียนบริหารธุรกิจครอบครัวสไตล์ "นิ่มซี่เส็ง"
ความสำคัญของธุรกิจครอบครัว
รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล รองอธิการบดีอาวุโสสายงานธุรกิจองค์กร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ก่อตั้ง FAMZ ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว ได้กล่าวถึงความสำคัญของธุรกิจครอบครัวว่า "จากผลวิจัยของ FAMZ พบว่า ธุรกิจครอบครัวไทยนั้นมีมากถึง 80% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด และธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ก็มีส่วนในการสร้าง GDP ประมาณ 304,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 60% ของ GDP ประเทศไทย"
นอกจากนี้ จากการศึกษาสามารถมองเห็นความสำคัญของธุรกิจครอบครัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้นจากหลาย ๆ ประเทศ ดังนี้
- สหรัฐอเมริกา - ได้เสนอแนวทางสนับสนุนธุรกิจครอบครัวต่อสภาครองเกรสเมื่อเดือนธันวาคม 2522 เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจครอบครัวที่สร้างงานจำนวนมากให้กับประเทศ สภาฯ จึงพิจารณาลดผลกระทบด้านภาษีที่มีผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัว
- สหรัฐอารับเอมิเรสต์ - รัฐบาลตั้งหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจครอบครัว เพื่อดึงดูดธุรกิจครอบครัวทั่วโลกให้เข้ามาตั้งบริษัทและพัฒนาธุรกิจครอบครัวภายในประเทศ โดยตั้งเป้าเปลี่ยนธุรกิจครอบครัวภายในประเทศ 200 บริษัทให้กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ภายในปี 2030
- แคนาดา - ปรับปรุงกฎหมายให้การส่งผ่านธุรกิจครอบครัวในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนทำได้ง่ายขึ้น เช่น การลดภาษีการโอนทรัพย์สินของธุรกิจเกษตรขนาดเล็กที่เป็นการโอนกันระหว่างคนในครอบครัว
- มอลต้า - มีธุรกิจครอบครัวถึง 98% ได้ออกพระราชบัญญัติธุรกิจครอบครัว (Family Business Act) เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการสืบทอดธุรกิจ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินและหุ้นของบริษัท นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ ให้คำปรึกษา รวมทั้งทำหน้าที่ประนีประนอมข้อพิพาทของกลุ่มธุรกิจครอบครัว
- ฮ่องกง - รัฐบาลวางนโยบายให้ฮ่องกงเป็น Hub of Family Office โดยตั้งเป้าดึงดูดสำนักงานครอบครัวของ 200 ธุรกิจครอบครัวชั้นนำมาอยู่ที่ฮ่องกงภายในปี 2025 รัฐบาลตั้งสำนักงาน Invest HK เพื่อช่วยครอบครัวที่มีความประสงค์จะย้ายสำนักงานครอบครัวมายังฮ่องกง
- อังกฤษ - มี ธุรกิจครอบครัวอยู่มากกว่า 85% และสร้าง GDP ราวๆ 46% รัฐบาลตั้งหน่วยงาน Institute for Family Business เพื่อสนับสนุนธุรกิจครอบครัวของสหราชอาณาจักร
แนวทางขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวว่า จากการศึกษาพบว่า ธุรกิจครอบครัว ส่วนใหญ่จะเห็นองค์ประกอบเหล่านี้อยู่ในกระบวนการการเติบโต ได้แก่
- ระบบกงสีที่เป็นมาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพ สามารถควบคุมความเสี่ยงได้ ซึ่งหมายความถึงการวางโครงสร้าง หรือวางระบบการบริหารที่ชัดเจน เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- การมองเห็นคุณค่าของธุรกิจ มีการสืบทอด ส่งต่อความรู้ ประสบการณ์ และชื่อเสียงจากรุ่นสู่รุ่น
- มุมมองระยะยาว เพื่อช่วยให้ธุรกิจรู้จังหวะในการปรับตัวและเดินต่อ รับมือกับวัฏจักรธุรกิจที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง
- แรงจูงใจความเป็นเจ้าของ เนื่องจากธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จมักจะปลูกฝังความผูกพันกับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืน
- ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ซึ่งเปรียบเสมือน DNA ของธุรกิจครอบครัวที่สะท้อนตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจน ยิ่งมีค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งมากเท่าไหร่ ธุรกิจครอบครัวก็ยิ่งมีความเข้มแข็งมากเท่านั้น
การบริหารสไตล์ "นิ่มซี่เส็ง"
"นิ่มซี่เส็ง" ธุรกิจครอบครัวที่เริ่มต้นในปี 2511 และมีรากฐานจากการขายผลไม้ในตลาดวโรรส เชียงใหม่ โดยครอบครัว คุณอุทัต สุวิทย์ศักดานนท์ ทว่า หลังเกิดอัคคีภัยที่ตลาดวโรรส บ้านและทรัพย์สินต่าง ๆ หายไปในพริบตา เหลือไว้เพียงสามล้อถีบเก่าๆ คันเดียว คุณอุทัตในฐานะลูกชายคนโตจึงต้องลาออกจากโรงเรียนมาถีบสามล้อ รับขนทุกอย่างที่มีคนจ้างเพื่อหาเลี้ยงชีพได้รายได้วันละ 8 บาท โดยเก็บออมไว้ 4 บาท จนกระทั่งซื้อรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้เป็นของตัวเองและรับจ้างขนส่งผัก ผลไม้ และของสด ระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ รวมทั้งปรับปรุงวิธีการต่างๆ จนกระทั่งธุรกิจมีแนวทางที่ดีขึ้น จึงได้ร่วมทุนกับน้องชายอีก 2 คน เปิดเป็นบริษัทสำหรับขนส่ง "นิ่มซี่เส็ง" ในปี 2514 (จริง ๆ แล้วตระกูลวิทย์ศักดานนท์นั้น "แซ่ลิ้ม" แต่ตอนจดทะเบียนธุรกิจอาจจะฟังไม่ถนัด จึงเพี้ยนไปเป็น "นิ่ม") กระทั่งในปัจจุบัน "นิ่มซี่เส็ง" ได้กลายเป็นอาณาจักรการขนส่งที่ยิ่งใหญ่เบอร์ต้น ๆ ของประเทศไทย
ทั้งนี้ คุณชวลิต สุวิทย์ศักดานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด ทายาทรุ่นต่อมาได้เล่าให้ฟังว่า ตนเองถูกฝึกให้ทำงานตั้งแต่ ป.5 จึงคุ้นชินกับเรื่องการขนส่งต่างๆ ถูกสอนให้รับผิดชอบ ถ้าลงมือทำอะไรแล้ว ต้องทำให้สำเร็จตามสัญญา สิ่งนี้จึงกลายเป็นนิสัยติดตัว ดังนั้น เมื่อลูกหลานจะเข้ามาทำงานที่บริษัท ไม่ได้แปลว่า จะเข้ามาเป็นผู้จัดการเลย แต่ต้องเริ่มเป็นพนักงานเหมือนกันหมด นอกจากนั้น ยังต้องเป็นคนที่มีระเบียบวินัย แม้จะเป็นคนเก่ง แต่หากขาดระเบียบวินัย ทำอะไรก็คงไม่สำเร็จ
"สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพผู้ใหญ่ หากสิ่งไหนที่ผู้ใหญ่ยังไม่เห็นด้วย แต่หากอยากฃทำก็ต้องหาข้อมูลประกอบให้ชัดเจน พยายามพิสูจน์สิ่งที่ตนจะทำให้ผู้ใหญ่ได้เห็น" คุณชวลิตกล่าว
เช่นเดียวกับ คุณพลวริษฐ์ สุวิทย์ศักดา ประธาน YEC จังหวัดเชียงใหม่ และ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิ่มซี่เส็งรถยก จำกัด ที่กล่าวถึงหลักการที่ใช้ในธุรกิจครอบครัวว่า "ต้องนับถือซึ่งกันและกัน อย่าเอาเหตุผลส่วนตัวเป็นใหญ่ เพราะสุดท้าย "ครอบครัว" สำคัญที่สุด แต่หากเกิดการทะเลาะกันก็อย่าทะเลาะกันให้ลูกน้องเห็น เราเชื่อมั่นในระบบ "ถ้าทำครั้งแรกให้ถูกต้อง ที่เหลือก็จะถูกต้อง" ซึ่งหมายความว่า การมีระบบระเบียบแบบแผนในการดำเนินงานที่ชัดเจน จะช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง และไม่เกิดปัญหา
หัวใจหลักของนิ่มซี่เส็ง คือ การให้บริการที่เป็นเลิศ ไม่เน้นการลดราคา เพื่อการแข่งขัน รวมทั้งมีการปรับตัวให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น ปัจจุบันนิ่มซี่เส็งได้ขยายธุรกิจไปในหลายสาขา โดยเฉพาะธุรกิจ "ลีสซิ่ง" ซึ่งมีแผนที่จะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์เร็ว ๆ นี้
การพัฒนาธรรมนูญครอบครัว
ขณะที่ ดร.สิริรัฐ บุญรักษา อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาธรรมนูญครอบครัวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนว่า "ธรรมนูญครอบครัว เป็นข้อตกลงที่ทุกคนร่วมกันทำขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักการในการดำเนินธุรกิจไปอย่างราบรื่น มีความชัดเจนและยั่งยืน โดยธรรมนูญครอบครัวจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง และร่วมกันตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ของธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ"
ทั้งนี้ การทำธรรมนูญครอบครัว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมดุลและความยั่งยืนใน 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย OFM : Ownership - Family - Management นั่นคือ
- การรักษาความเป็นเจ้าของธุรกิจ (Ownership) เพื่อยังคงควบคุมธุรกิจของครอบครัวได้
- การสร้างความสามัคคีในครอบครัว (Family) เพื่อให้สมาชิกครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
- การจัดการบริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพ (Management) สร้างความชัดเจนและเป็นธรรม สร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจของครอบครัว เพื่อปรับตัวเป็นธุรกิจครอบครัวมืออาชีพ และพัฒนาธุรกิจให้มีความเติบโต ก้าวหน้า โดยการผสานบทบาทเหล่านี้เข้าด้วยกันจะช่วยลดความขัดแย้ง เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการวางระบบกำกับดูแลธุรกิจครอบครัว ด้วยบัญญัติ 10 ประการ เพื่อใช้พัฒนาธรรมนูญครอบครัวให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมมิติสำคัญๆ ดังนี้
- เจตนารมณ์และค่านิยมครอบครัว วางเป้าหมายและคุณค่าหลักที่ครอบครัวต้องการรักษาและส่งต่อในธุรกิจ
- สมาชิกครอบครัวและบทบาทหน้าที่ โดยกำหนดบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความขัดแย้งและสร้างการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
- การระงับข้อพิพาทและบทลงโทษ ควรวางระบบจัดการความขัดแย้ง เช่น วิธีการไกล่เกลี่ย หรือกระบวนการตัดสินใจร่วม เพื่อรักษาความสงบสุขในครอบครัว
- กรรมการครอบครัวและบทบาทหน้าที่ สร้างกลไกการบริหารผ่านคณะกรรมการครอบครัวที่มีหน้าที่ดูแลการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และเป็นตัวแทนของสมาชิกครอบครัวในทุกกลุ่ม
- สวัสดิการครอบครัว กำหนดวัตถุประสงค์ของการให้สวัสดิการ และการกำหนดสวัสดิการที่ชัดเจน จะช่วยให้ลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
- การจ้างงานและผลตอบแทน กำหนดเงื่อนไขการจ้างงานสำหรับสมาชิกครอบครัว เช่น การทำงานตามความสามารถและคุณสมบัติตรงตามตำแหน่งงาน และการจัดสรรค่าตอบแทนที่เหมาะสม
- การลงทุนของครอบครัว วางนโยบายเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อขยายการเติบโตในธุรกิจครอบครัว เช่น การกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง หรือการลงทุนในโอกาสใหม่ๆ
- การบ่มเพาะและแผนสืบทอดวางแผนพัฒนาและเตรียมผู้นำรุ่นใหม่ให้พร้อมรับช่วงธุรกิจ เช่น การฝึกอบรม ทักษะการบริหาร และการถ่ายทอดความรู้
- การจัดการทรัพย์สินส่วนกลาง จัดการทรัพย์สินที่เป็นของครอบครัวร่วมกัน เช่น อาคาร ที่ดิน หรือสินทรัพย์อื่นๆ โดยมีกฎเกณฑ์การใช้งานและการแบ่งที่ชัดเจน
- การถือหุ้น วางนโยบายเกี่ยวกับการถือหุ้นในธุรกิจ เช่น การซื้อขายหุ้นระหว่างสมาชิก การป้องกันหุ้นตกไปอยู่นอกครอบครัว และการกระจายหุ้นในรุ่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแต่ละครอบครัวมีหลักการ และความต้องการแตกต่างกัน ธรรมนูญครอบครัวจึงไม่จำเป็นต้องยึดติดที่ 10 ข้อ ทว่า สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของครอบครัว แต่ควรมั่นใจว่าครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งหมด เป็นที่ยอมรับของสมาชิกครอบครัว และง่ายต่อการปฏิบัติร่วมกัน
ทั้งนี้ เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการพัฒนาธรรมนูญครอบครัว มี 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่
- การมีส่วนร่วมของทุกสมาชิกในครอบครัว
- การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
- การประชุมและการจัดทำเอกสารการประชุม
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันออกไปทั้งลักษณะของความเป็นครอบครัว และลักษณะของธุรกิจ แต่ก็หวังว่า กิจกรรมในครั้งนี้จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการทำธรรมนูญครอบครัวและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไม่มากก็น้อย