นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม พร้อมนายแพทย์กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงศ์เวช รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม และนางสาวธิดารัตน์ เลี่ยวปรีชา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส. ทั้งนี้ มีผู้ว่าราชการจังหวัด 77 จังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ผอ.ศอ.ปส.จ.) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่วมประชุมฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล Cisco WebEx Meetings
ประธานการประชุมฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล นโยบายและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี 11 เรื่อง ขยายการดำเนินงานจาก 25 จังหวัดเร่งด่วน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 77 จังหวัด โดยขอให้น้อมนำพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
สำหรับวาระการประชุมฯ ในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอให้ที่ประชุมทราบแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับจังหวัด กรอบงบประมาณการขับเคลื่อนงานภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และกลไกการขับเคลื่อนและกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ โดยในแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2568 ให้ดำเนินการ 6 จุดเน้น กล่าวคือ 1) การนำผู้เสพ/ ผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และผู้ถูกคุมความประพฤติคดียาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาทางสังคม เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดและคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม 2) การสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อยุติแหล่งผลิต และการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า 3) การปราบปรามนักค้ายาเสพติด ด้วยมาตรการสมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ และใช้มาตรการทางทรัพย์สินเพื่อทำลายโครงสร้างการค้ายาเสพติด 4) การขจัดปัญหาเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด ตลอดจนแก้ไขปัญหากลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง 5) ขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 6) การขับเคลื่อนกลไหในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นเอกภาพ
นอกจากนี้ ได้มีการชี้แจงให้ที่ประชุมทราบกรอบแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้ 6 มาตรการ 47 แนวทาง 8 เป้าหมายหลัก ลงระดับจังหวัดและอำเภอ รวมถึงการกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ในพื้นที่ 14 จังหวัด 51 อำเภอ ประกอบด้วย ชายแดนภาคเหนือ 6 จังหวัด 21 อำเภอ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด 25 อำเภอ และชายแพนภาคตะวันตก 1 จังหวัด 5 อำเภอ
ในส่วนของเรื่องเพื่อพิจารณา ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการกำกับติดตามผลการปฏิบัติ โดยกลไก ศปก.ครส. และการรายงานผลการปฏิบัติ และช่อทางการติดต่อสื่อสาร การทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) ของคณะกรรมการ ศปก.ครส. 4 ฝ่าย รวมทั้งการกำหนดประชุม เดือนละ 2 ครั้ง ส่วนกลางประชุมที่ห้องประชุมชิดชัยฯ สำนักงาน ป.ป.ส. ส่วนภูมิภาค ประชุมผ่านระบบ Cisco Webex Meetings โดยขอให้ 4 เสาหลัก ระดับจังหวัด เข้าประชุมทุกครั้ง ประกอบด้วย 1) ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าฯ หรือปลัดจังหวัด 2) ผู้บังคับการ หรือรองผู้บังคับการ ตำรวจภูธรจังหวัด 3) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 4) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ 5) ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ ได้นัดหมายประชุม ศปก.ครส. ครั้งที่ 2/2567 วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น.