วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดห้องเรียนสาขาโลจิสติกส์ และ โซ่อุปทาน เน้นเรียนรู้แนวแอคทีฟ เสริมทักษะความรู้ผ่านเกม เส้นทางการปั้นนักบริหารคลังสินค้าและการวิเคราะห์ข้อมูลทางโลจิสติกส์ ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่
ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องจากศักยภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของ 10 ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน สอดรับกับข้อมูลจาก Euromonitor ได้คาดการณ์มูลค่าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซของไทยไว้ที่ 4.24 แสนล้านบาทในปี 2565 และจะขยายตัวเป็น 9.06 แสนล้านบาทในปี 2569
"การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีโลจิสติกส์เปรียบเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญและเป็นส่วนที่ส่งผลต่อความ สำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งไม่ใช่แค่อีคอมเมิร์ซเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงธุรกิจต่าง ๆ ด้วย" ดร.คุณากร กล่าว
นอกจากนี้ โลจิสติกส์ ยังเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ดังนั้น เป้าหมายหลักของ CIBA จึงให้ความสำคัญการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ เพื่อเข้าไปเป็นกำลังสำคัญในธุรกิจโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในอนาคต
ดึงเกมเสริมทักษะ 'วิเคราะห์ธุรกิจ-เรียนรู้เร็ว'
ดร.คุณากร กล่าวว่า หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สอนโดยอาจารย์ที่มีประสบการณ์ เน้นการเรียนการสอนให้คิด วิเคราะห์ และลงมือทำจริงผ่านการจำลองสถานการณ์ทางโลจิสติกส์จากเกมมอนซูนซิม (MonsoonSIM Business Simulation) ที่นักศึกษาแม้ไม่มีความรู้พื้นฐานก็สามารถเข้าใจ และสนุกไปกับการเรียนในรูปแบบนี้
"แรก ๆ นักศึกษามองภาพไม่ออกว่าโลจิสติกส์คืออะไร อาจคิดว่าเป็นแค่การขนส่ง แต่จริง ๆ แล้วงานด้านโลจิสติกส์ เป็นการบริหารจัดการหลังบ้านของธุรกิจทั้งหมด ตั้งแต่ซื้อสินค้าเข้ามาจนถึงส่งถึงมือลูกค้า โดยในเกมจะมอบเงินตั้งต้นให้ เช่น 3.5 ล้านบาทที่จะนำไปใช้บริหารงานแต่ละส่วน เช่น จัดการสต็อกสินค้า ขนส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้ภายในวันที่กำหนด การจัดซื้อกับเวนเดอร์ สินค้าล็อตไหนจ่ายก่อน จ่ายหลัง รวมไปถึงการค้นหาและจัดซื้อข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์คู่แข่ง กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวมานี้จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งนำไปสู่การคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ" ดร.คุณากร กล่าว
ขณะที่การเรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ระบบบริหารทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning - ERP) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการข้อมูลในทุกแผนกขององค์กรอย่างบูรณาการ โดยนักศึกษาจะได้ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของระบบ ERP ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การประมวลผล และการนำเสนอข้อมูลที่เชื่อมโยงกันระหว่างส่วนงานต่าง ๆ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแผนก เมื่อมีการสร้างใบเซลล์ออเดอร์ (Sales Order) ระบบ ERP จะทำงานเชื่อมโยงข้อมูลไปยังแผนกการผลิตและคลังสินค้าเพื่อวางแผนจัดเตรียมสินค้า การติดตามสถานะสินค้าและคำสั่งซื้อ ระบบช่วยให้นักศึกษาสามารถตรวจสอบการไหลของวัตถุดิบและสินค้าได้แบบเรียลไทม์ ตั้งแต่กระบวนการรับเข้า การจัดเก็บ ไปจนถึงการจัดส่ง การวางแผนทรัพยากร นักศึกษาจะได้ฝึกการใช้งานโมดูลที่เกี่ยวข้อง เช่น การคาดการณ์ความต้องการสินค้า การจัดตารางการผลิต และการควบคุมสต็อก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากร และระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligent) พร้อมกันนี้ในส่วนของรายวิชาการจัดการคลังสินค้า ทำให้เรียนรู้การไหลของวัตถุดิบ ตั้งแต่การรับสินค้า (Receiving) เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้าและการบันทึกข้อมูล การจัดเก็บ (Storage) เช่น วิธีการจัดเรียงสินค้า การเบิกจ่ายสินค้า (Picking and Packing) ด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ Pick-to-Light เพื่อช่วยลดข้อผิดพลาดตลอดจนช่วยลดต้นทุนในกระบวนการจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีรายวิชาการวิเคราะห์และการตัดสินใจด้านโลจิสติกส์ และอุปทาน ซึ่งสอนเป็น Excel มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งแนวทางการสอนภายใต้หลักสูตรนี้มีเป้าหมายบ่มเพาะและพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะการวิเคราะห์โลจิสติกส์และบริหารคลังสินค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต
ดร.คุณากร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว การปรับหลักสูตรให้ทันสมัยตามแนวโน้มใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งต่อจากนี้โลจิสติกส์ที่เน้นความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการทำธุรกิจ อาทิเช่น การขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานทางเลือก การออกแบบเส้นทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมถึงการใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้กล่องที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่าย และการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบติดตามพัสดุอัจฉริยะและการจัดการโลจิสติกส์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในระยะยาว นอกจากนี้ แนวคิดการลด คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในกระบวนการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานกำลังได้รับความสำคัญมากขึ้น โดยองค์กรต่างๆ เริ่มนำระบบติดตามและวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละขั้นตอนมาใช้ เพื่อหาแนวทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนในคลังสินค้า การเลือกใช้เส้นทางการขนส่งที่มีระยะทางสั้นที่สุด และการจัดส่งสินค้าร่วมกัน (Consolidated Shipping) เพื่อลดจำนวนการขนส่ง ทั้งนี้ หลักสูตรบริหารธุรกิจ การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานและแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต โดยมีการบูรณาการองค์ความรู้เกี่ยวกับโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการวางแผนและบริหารจัดการ รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการบริหารความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวและนำความรู้ไปใช้ได้จริงในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
บทพิสูจน์ความรู้สู่ลงมือทำ
การเรียนรู้ด้านโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานจากเกมมอนซูนซิม ทำให้เห็นถึงผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านผู้เรียนจริง โดยนายภัทรเวช ศรีชัยวงษ์ยศ, นายศิรวิทย์ สามเรือนทอง, นางสาวกันติชา แซ่ตั้ง, นางสาวแพรพร มาตแพง และ นางสาววริศรา อยู่เจริญ ทีม "RUBSARB" ตัวแทนนักศึกษาจากหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เผยถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเรียนในสาขานี้ พร้อมวางแผนถึงการทำงานในสายงานนี้เมื่อจบการศึกษา โดยน้อง ๆ ทั้ง 5 คนบอกเล่าถึงประสบการณ์การเรียนในบรรยากาศที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเรียนรู้ผ่านโลกจำลอง แต่ยังเสริมสร้างความเข้าใจด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างลึกซึ้ง ทั้งในบทบาทของฝ่ายจัดซื้อ การตลาด และการจัดการคลังสินค้า โดยเน้นบรรยากาศการเรียนที่เปิดโอกาสให้คิดวิเคราะห์ ฝึกปฏิบัติจริง และเรียนรู้อย่างมีความสนุกสนาน
นอกจากประสบการณ์ในห้องเรียนที่ CIBA แล้ว ความรู้ด้านจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ได้ต่อยอดให้น้อง ๆ นำทักษะนี้เข้าร่วมการแข่งขัน MERMC 2024 หรือ MonsoonSIM Enterprise Resource Management Competition และสามารถชนะคู่แข่ง คว้าตำแหน่งตัวแทนประเทศไทย