กลุ่ม KTIS เผยอ้อยในฤดูการผลิตปี 67/68 ดีกว่าปีก่อนทั้งปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากปริมาณฝนและสภาพอากาศเอื้ออำนวย เตรียมเปิดรับอ้อยเข้าหีบ 15 ธ.ค. 67 คาดได้อ้อยไม่น้อยกว่า 6.5 ล้านตัน นำไปผลิตน้ำตาลได้ไม่น้อยกว่า 7 ล้านกระสอบ สูงกว่าปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบเพียง 5 ล้านตัน และน้ำตาล 5.1 ล้านกระสอบ อีกทั้งยังส่งผลดีไปถึงสายธุรกิจเยื่อกระดาษ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่จะมีวัตถุดิบสำหรับการผลิตมากขึ้น ประกอบกับโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยบริสุทธิ์ 100% ก็จะสามารถรับรู้รายได้เต็มปี สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท จึงมั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2568 จะดีกว่าปี 2567 อย่างมาก
นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจน้ำตาล และผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า เนื่องจากปีนี้มีปริมาณฝนตกมากกว่าปีก่อน ทำให้ต้นอ้อยได้รับน้ำอย่างเพียงพอและเติบโตได้ดี ประกอบกับอากาศที่เย็นลงในช่วงปลายปี จึงคาดว่า อ้อยในฤดูการผลิตปี 2567/2568 จะดีกว่าปี 2566/2567 ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะสามารถนำไปผลิตน้ำตาลได้มากขึ้นกว่าปีก่อน ส่งผลให้ส่วนแบ่งรายได้ของชาวไร่อ้อยจากการขายน้ำตาลก็จะมากขึ้นด้วย โดยชาวไร่มีส่วนแบ่งรายได้ 70% และโรงงานน้ำตาลมีส่วนแบ่ง 30%
"จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบไม่น้อยกว่า 6.5 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ไม่น้อยกว่า 7 ล้านกระสอบ สูงกว่าฤดูหีบปี 66/67 ที่ 3 โรงงานของกลุ่ม KTIS ได้อ้อยเข้าหีบ 5 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 5.1 ล้านกระสอบ โดยปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจ เพราะจะมีโมลาส หรือ กากน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้น มีชานอ้อยที่ป้อนเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยมากขึ้นด้วย จึงมั่นใจว่ารอบบัญชีปี 2568 (ตุลาคม 2567 - กันยายน 2568) ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS จะดีขึ้นกว่าปีก่อนอย่างมาก" นายสมชายกล่าว
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งธุรกิจที่จะช่วยส่งเสริมผลการดำเนินงานของปี 2568 อย่างชัดเจนก็คือ โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยบริสุทธิ์ 100% ซึ่งมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ ตามความต้องการของตลาดและความต้องการของลูกค้า โดยคาดว่า ในปี 2568 จะสามารถขายสินค้าในกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน คิดเป็นยอดขายไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ส่วนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม KTIS และกลุ่ม ปตท. ก็จะได้รับผลดีจากปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะสร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นด้วย
"โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยบริสุทธิ์ 100% ภายใต้บริษัทเอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ แพคเกจจิ้ง จำกัด (EPAC) บริษัทในกลุ่ม KTIS ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% ตอนนี้ได้รับความสนใจจากตลาดอย่างมาก เพราะเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหาร ทั้ง FSSC 22000 V.5.1 , ISO 22000:2018 , GHPs (Good Hygiene Practices) และ HACCP มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้คลอรีนในการฟอกสีเยื่อกระดาษ ทำให้ได้เยื่อกระดาษชานอ้อยบริสุทธิ์ ปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหารไม่ว่าจะร้อน หรือเย็น อีกทั้งก่อนที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค ยังได้ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV อีกด้วย" นายสมชายกล่าว
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของ EPAC ยังได้รับใบรับรองมาตรฐานระดับโลกด้านการย่อยสลายของผลิตภัณฑ์ (Products made of compostable materials for industrial composting Clamshell and Plate) จากสมาคมนานาชาติของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (BPI) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบทดสอบการย่อยสลายของสหรัฐอเมริกา โดยผ่านการทดสอบการตรวจหาวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามเงื่อนไขของ BPI ทั้ง 4 ขั้นตอน ได้แก่ การระบุวัสดุและการวิเคราะห์โลหะหนัก การทดสอบการสลายตัว การทดสอบการย่อยสลาย และ การทดสอบความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของ EPAC สามารถย่อยสลายได้ 100% เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอยู่ในเมกะเทรนด์ของโลกในปัจจุบันและอนาคต