สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU Aviation Academy : DAA ) เปิดอบรม 9 หลักสูตร ด้านความปลอดภัยด้านการบิน ตลอดปี 2568 ทั้งระบบ online และ On-site ตั้งเป้าพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการบิน รองรับอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวฟื้นตัว
นางสาวสุนันทา พาสุนันท์ ผู้จัดการแผนกลยุทธ์และการตลาด สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU Aviation Academy : DAA) กล่าวว่า สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการฝึกอบรมการบิน ด้วยหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) และหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยทีมผู้เชี่ยวชาญของสถาบันเอง ครอบคลุมทั้งด้าน Safety & Security และ Skill Development ที่ตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงาน โดยเปิดอบรม 9 หลักสูตร ด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน ตลอดปี 2568 ทั้งระบบ online และ On-site โดยรับใบประกาศนียบัตรจาก IATA ใน 6 หลักสูตร และจาก DAA ใน 3 หลักสูตร
ทั้งนี้ เพื่อตอบรับการฟื้นตัวและการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน โดยการคาดการณ์ของ IATA ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 2568 และเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีอัตราการเติบโตสูงสุดคิดเป็น 2 ใน 3 โดยประเมินว่าในช่วงปีดังกล่าวจะมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศสูงถึง 8,600 ล้านคน และสัดส่วน 46%เดินทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
"ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการบินกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะในส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและการจัดการสนามบิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่นคงและการเติบโตของอุตสาหกรรม ดังนั้น สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินสู่อนาคต ด้วยการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ เพื่อรองรับบุคลากรอุตสาหกรรมการบินที่ขาดแคลนอย่างทันท่วงที และจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาเต็มรูปแบบในช่วงสิ้นปี 2568" นางสาวสุนันทา กล่าว
ผู้จัดการแผนกลยุทธ์และการตลาด DAA กล่าวเพิ่มเติมว่า 9 หลักสูตร ดังกล่าว จัดขึ้นสำหรับบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการบิน อาทิ เจ้าหน้าที่ภาคพื้น และพนักงานสายการบินที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย วิศวกร ผู้อำนวยการด้านการบิน หรือ ลูกเรือที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน เช่น นักบิน พนักงานต้อนรับ เป็นต้น
สำหรับหลักสูตรที่ได้รับความนิยมใน 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.) Aviation Security Awareness: AVSEC เป็นหลักสูตรที่เจาะลึกมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยทางอากาศและภาคพื้น ตามมาตรฐาน IATA โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เทคนิคการรักษาความปลอดภัยในสนามบินและระบบการบิน 2.) SMS Fundamentals (Online Course) ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้หลักการของระบบการจัดการความปลอดภัย (SMS) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน ตามมาตรฐาน IATA และสามารถพัฒนาทักษการจัดการความปลอดภัยอย่างยั่งยืน และ 3.) Human Factors and CRM หลักสูตรสร้างความเข้าใจในด้านการจัดการทีมงานในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง โดยผู้เข้าอบรมจะได้รับการพัฒนาทักษะการสื่อสารและการตัดสินใจเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีอีก 6 หลักสูตรที่น่าสนใจ อาทิ Aviation Safety Fundamentals เรียนรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัยการบินและตามมาตรฐาน IATA และ Human Factors and Safety Management Fundamentals เข้าใจปัจจัยมนุษย์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัย และการจัดการเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ตามมาตรฐาน IATA
Aviation Security Awareness : In-Flight Crew หลักสูตเพิ่มความสามารถในการรักษาความปลอดภัยบนเครื่องบิน ตามมาตรฐาน IATA โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เรื่องการจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉินและป้องกันภัยคุกคาม หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับ ลูกเรือที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน เช่น นักบิน พนักงานต้อนรับ ส่วน SMS for Ground Operations (Online Course) หลักสูตรอบรมแบบเจาะลึกการจัดการความปลอดภัยในปฏิบัติการภาคพื้นดิน ตามมาตรฐาน IATA โดยเรียนรู้การวิเคราะห์และปรับปรุงความปลอดภัยในปฏิบัติการต่าง ๆ
ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ https://www.daatraining.com/ หรือ โทร.061-863-7991