ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจก.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 9, 2024 14:43 —ThaiPR.net

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative; RWN) ของอันดับเครดิต บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)

เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ หากบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ AIS คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีอำนาจควบคุมใน AIS โดยสถานะทางเครดิตของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่อ่อนแอกว่าอาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หลายระดับ ณ ปัจจุบัน ฟิทช์ประเมินอันดับเครดิตของ AIS บนพื้นฐานของสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile)

ฟิทช์ได้นำอันดับเครดิตทั้งหมดของ AIS และ AWN เข้าสู่เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 หลังจากที่กัลฟ์ประกาศแผนควบรวมกิจการกับอินทัช และจัดตั้งบริษัทใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลักคือ อินทัช กัลฟ์ และบริษัท สิงคโปร์ เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (Singtel) จะทำการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ AIS ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยก่อนการควบรวมกิจการ ฟิทช์คาดว่าจะมีการนำอันดับเครดิตออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบเมื่อการเสนอซื้อหุ้นเสร็จสิ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของ AIS มีความชัดเจน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่า 6 เดือน

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นที่อาจเกิดขึ้น: การเสนอซื้อหุ้นอาจส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของ AIS เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หากบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการมีอำนาจควบคุม AIS ฟิทช์จะใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Linkage Rating Criteria) เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่าง AIS และบริษัทแม่ที่อ่อนแอกว่า ฟิทช์คาดว่าจะพิจารณาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและการควบคุม (Access and Control) ของบริษัทแม่ต่อ AIS จะอยู่ในลักษณะกึ่งเปิด (Porous) หรือเปิด (Open) และกลไกการป้องกันทางกฎหมาย (Legal Ring-fencing)จะอยู่ในลักษณะเปิด (Open) ซึ่งจะส่งผลให้อันดับเครดิตของ AIS ถูกจำกัดอยู่ที่สถานะทางเครดิตของบริษัทแม่ หรือสูงกว่าได้หนึ่งระดับ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หลายระดับ

บริษัทแม่ที่มีสถานะอ่อนแอกว่า: ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการจะมีสถานะทางเครดิตที่อ่อนแอกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ AIS ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) ของบริษัทใหม่ (ซึ่งรวมงบการเงินของ AIS และหนี้ที่เกิดขึ้นจากการเสนอซื้อหุ้น) จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 เท่า ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินของ AIS อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.5 เท่า อย่างไรก็ตาม การรวมอินทัชและ AIS เข้ากับบริษัทใหม่จะทำให้มีการกระจายตัวที่ดีขึ้นของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานครอบคลุมทั้งธุรกิจโทรคมนาคมและพลังงาน

สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่แข็งแกร่งของ AIS: สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ AIS ยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการประมาณร้อยละ 49 นอกจากนั้น การเข้าซื้อกิจการของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย ได้ทำให้ AIS สามารถกระจายรายได้ไปสู่บริการที่ไม่ใช่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นและสนับสนุนการเติบโตของรายได้และความมั่นคงของกำไรในระยะกลาง ฟิทช์คาดว่า AIS จะรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งด้วยอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ที่ประมาณ 1.2 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (2566: 1.5 เท่า)
การเติบโตของกำไรที่ดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ AIS จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2567 และ 2568 (2566: 7.7 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากการรวม บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) และการฟื้นตัวของรายได้ต่อเลขหมาย (ARPU) โดยฟิทช์คาดว่าการแข่งขันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2568 และผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการทำกำไรมากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด โดยมีการเสนอแพ็คเกจข้อมูลแบบไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่จำกัด

การควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในช่วงต้นปี 2566 ทำให้อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยมีการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น ตลาดที่มีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการเพียงสองรายที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่เป็นเหตุเป็นผลและยั่งยืนมากขึ้น

อันดับเครดิตที่เท่ากัน: อันดับเครดิตของ AIS และ AWN อยู่ในระดับเดียวกัน สะท้อนถึงแรงจูงใจในการสนับสนุนทางยุทธศาสตร์และการดำเนินงาน (Strategic and Operational Incentive) ของ AIS ต่อ AWN ที่ 'สูง' และแรงจูงใจในการสนับสนุนทางกฎหมาย (Legal Incentive) ที่ 'ต่ำ' ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกของฟิทช์ ซึ่งสะท้อนถึงสัดส่วนรายได้ และ EBITDA จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์ของ AWN ที่อยู่ในระดับสูง โดยคิดเป็น 93% และ 85% ของรายได้และ EBITDA ของกลุ่มตามลำดับในปี 2566

ฟิทช์มองว่าการบริหารจัดการและการทับซ้อนของแบรนด์นั้นอยู่ในระดับ 'สูง' นอกจากนั้น AIS เป็นเจ้าของ AWN ทั้งหมด ทำให้สามารถควบคุมนโยบายการเงินและการลงทุนของ AWN โดยใช้แบรนด์ AIS ในผลิตภัณฑ์ที่ขายในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์ และ คอนเทนต์

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับทางเครดิตของ AIS แข็งแกร่งกว่าบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'AA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่มีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในสุราและส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ในตลาดหลักของประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ ทั้งสองบริษัทมีโปรไฟล์ธุรกิจที่เทียบเคียงกันในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมของตน AIS มีการกระจายธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า แต่มีอันดับเครดิตภายในประเทศสูงกว่า ไทยเบฟเวอเรจ สองอันดับเนื่องจากมีความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำกว่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่ในระดับเดียวกันกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย AIS มีสถานะธุรกิจที่อ่อนแอกว่าเล็กน้อย และธุรกิจของปตท. มีขนาดใหญ่กว่าและมีการกระจายตัวมากกว่า ซึ่งช่วยลดความผันผวนของแต่ละส่วนธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมของ AIS มีความเสถียรมากกว่า และบริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า โดยมี EBITDA net leverage อยู่ที่ประมาณ 1.2-1.5 เท่า เทียบกับประมาณ 1.7-2.0 เท่าสำหรับ ปตท.

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- การเติบโตของรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ในปี 2567 และร้อยละ 2 ในปี 2568 สะท้อนถึงการควบรวม บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) และการปรับตัวดีขึ้นของ ARPU
- รายได้ต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) จากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40-41 ในปี 2567 และ 2568
- เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 2.55 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2568 (2566: 3.71 หมื่นล้านบาท)
- อัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 95

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก

  • ฟิทช์อาจยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบและประกาศคงอันดับเครดิตด้วยแนวโน้มมีเสถียรภาพ หากการควบกิจการไม่ถูกดำเนินต่อ การเสนอซื้อหุ้นถูกยกเลิก หรือหากบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ มิได้มีอำนาจควบคุม AIS
    ปัจจัยลบ
  • ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หากการเสนอซื้อหุ้นส่งผลให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการมีอำนาจควบคุม AIS โดยอันดับเครดิตของ AIS จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและการควบคุม (Access and Control) ของบริษัทแม่ที่อ่อนแอกว่า ต่อ AIS ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก (Parents and Subsidiary Rating Linkage Criteria)

สภาพคล่องและโครงสร้างหนี้

AIS มีสภาพคล่องที่บริหารจัดการได้ โดยมีหนี้จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาทที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากสิ้นเดือนกันยายน 2024 โดยหนี้จำนวน 3.7 หมื่นล้านบาทเป็นเงินกู้ระยะสั้น (bridging loan) เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) และหุ้นร้อยละ 19 ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (ปัจจุบัน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต สามบีบี) ในปี 2566 AIS ได้ทำการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นดังกล่าวบางส่วนด้วยการออกหุ้นกู้มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนหนี้ที่เหลือจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทน่าจะได้รับการสนับสนุนโดยเงินสดจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2024 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องของ AIS ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากความสามารถในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ เนื่องจากสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่ง

เกี่ยวกับบริษัท: AIS เป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการประมาณร้อยละ 49 และยังให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศด้วยจำนวนผู้สมัครใช้บริการ 4.94 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 46 ของตลาดผู้ใช้บริการ อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ สิงคโปร์ เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดยถือหุ้นร้อยละ 40 และร้อยละ 23 ตามลำดับ

อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ AWN ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ AIS อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของ AIS


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ