The Active - Policy Watch Thai PBS เปิดเวที Policy Forum ร่วมออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) พร้อมเปิดตัว "Dream Con" แฟลตฟอร์มรวมความเห็นและการมีส่วนร่วมที่ประชาชนอยากเห็น พร้อมถก แนวทาง "คลอดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ที่ยึดโยงทุกมิติชีวิตของทุกคน
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน WeVis, Centre for Humanitarian Dialogue (HD), HAND SE และสถาบันพระปกเกล้า จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม "ร้อยเหตุผล ร่วมสนทนา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" พร้อมด้วยเวที "Policy Forum ครั้งที่ 24 : ออกแบบ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญ ของประชาชน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน สื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมือง ตัวแทนวิชาชีพ และกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ Convention Hall 2 ไทยพีบีเอส
ในช่วงเช้า การเสวนาได้แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ คุณสมบัติ ที่มา และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในครั้งนี้ได้มีการทดลองใช้นำเครื่องมือ "Dream Con" มาใช้ ซึ่งเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ The Active - Policy Watch Thai PBS และภาคีเครือข่าย เป็นนวัตกรรมการเก็บรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อให้ความคิดเห็นทั้งหมดถูกบันทึกและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยสามารถเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ใช้ในการสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล
จากนั้นช่วงบ่าย ความเห็นที่ผ่านกระบวนการสนทนากลุ่ม ถูกย่อยออกมาเสนอผ่านเวที Policy Forum ครั้งที่ 24 เพื่อต่อยอดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา
เริ่มต้นด้วย ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า โจทย์ของรัฐธรรมนูญไทยวันนี้มี 3 ประเด็น เรื่องแรกคือ "การเมือง" ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2 แบบ คือแบบลายลักษณ์อักษร และอีกแบบคือฉบับวัฒนธรรม ซึ่งขัดแย้งกันเอง เรียกว่า "ระบบประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต" ใบแรกคือรอจากการเลือกตั้ง และอีกใบคือรอชนชั้นนำตัดสินใจ 2 คือ "ระบบราชการรวมศูนย์" ทำให้เติบโตช้าและมีความเหลื่อมล้ำสูง สุดท้ายคือ 3 "โจทย์สังคม" เช่น สวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าโจทย์ในประเทศไทยกว้างมาก จึงต้องหา "ตัวแทน" หรือ "สสร." ที่มีความหลากหลาย จะหวังแค่นักกฎหมายหรือนักรัฐศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ซึ่งอาศัยหลักคิด "4D" 1. Democracy - ตัวแทนที่เป็นประชาธิปไตย 2. Diversity - ความหลากหลาย 3. Deliberate - ไม่ใช่แค่เลือกคนแล้วจบ แต่ต้องมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกัน 4. Deliver - ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
ขณะที่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต สสร. ร่างรัฐธรรมนูญ 40 และคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ กล่าวต่อว่า รูปแบบที่ใช้เรื่องที่มาของ สสร. ขณะนั้น นำมาใช้กับตอนนี้ไม่ได้ และมีความเห็นว่า สสร. ปัจจุบัน ควรมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แม้ว่าอาจจะมีโอกาสมาจากคนที่มีสังกัด หรือ มีสี แต่ สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งดีที่สุด แต่การจะให้มี สสร. จากจังหวัดละ 1 คน มองว่าอาจจะไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากร เช่น กทม. ที่มีประชากรเยอะ แต่มีตัวแทนได้เพียงคนเดียว แต่ก็มีข้อดี คือ กลไกทางการเมืองมีอิทธิพลได้น้อยและกระจายคนได้มากขึ้น และมองว่าจำนวน 99 - 100 คน มีความเหมาะสม เนื่องจาก สสร. มีเพียงภารกิจเดียว คือการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ ก็มาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งในเวลานั้นมีไม่มาก สุดท้ายก็ถูก สส. และ สว. เลือกอยู่ดี
ทางด้าน นิกร จำนง เลขานุการ และ กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ตอนนี้เรามีมุมมองจากรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่ "เศรษฐา ทวีสิน" จนมาถึง "แพทองธาร ชินวัตร" ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่า สสร. เป็นเพียงแค่ฐาน ที่จะนำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน แต่สิ่งที่ควรทำต่อจากนี้ คือ ควรผลักดันให้ไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ภายในสมัยรัฐบาลนี้ เพราะเหลือน้อยแล้ว หากพลาด ไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่ ความปรารถนาตอนนี้คือ การคืนรัฐธรรมนูญกลับไปเป็นของประชาชน
รศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราทุกคนเป็น สสร. ได้ ทำรัฐธรรมนูญได้ อย่าคิดว่าต้องรอกระบวนการจากรัฐสภา ตอนนี้เรามีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน สิ่งสำคัญต่อมาคือ การรวมเสียงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเล็กหรือจะน้อย แม้กระทั่งเรื่องไร้สาระสำหรับบางคน ก็เป็นสาระกับตัวเขา เพราะเรื่องบางเรื่องเรามองจากจุดที่เรายืน แต่เจ้าของเรื่องของมองว่าว่าเป็นเรื่องใหญ่ การมีระบบรวบรวมว่ามีคนเห็นด้วยเท่าไหร่ อย่างไร เมื่อมี Empathy คือ เป้าหมายเดียวกัน จะช่วยกำหนดทิศทางทางสังคมที่กว้างมากขึ้นและเห็นภาพร่วมกัน
อรุชิตา อุตมะโภคิน ผู้จัดการกลุ่ม กลุ่มงานด้านนวัตกรรมการสื่อสาร ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ กล่าวทิ้งท้ายว่า "Policy Watch" ในฐานะแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นเป็นพื้นที่สำหรับการพูดคุยและยกระดับประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ได้สร้างโอกาสในการมีส่วนร่วมใน "Policy Forum" ครั้งนี้ และยังได้รวบรวมข้อมูลสำคัญเพื่อนำไปใช้ในการติดตามนโยบายภายใต้ "หมวดรัฐธรรมนูญใน Policy Watch" ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ https://policywatch.thaipbs.or.th/policy/legal นอกจากนี้ ทุกบทสนทนาที่เกิดขึ้นในหัวข้อรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกรวบรวมผ่านแพลตฟอร์ม Dream Con จะถูกนำมานำเสนอและใช้เป็นฐานในการติดตามและประเมินผลนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
Website : www.thaipbs.or.th / Application : Thai PBS / Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin