ในยุคที่มนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายต่างได้รับผลกระทบจาก "ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs)" โดยเฉพาะ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO?) ทั้งภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง การขาดแคลนทรัพยากร และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องหันมาสนใจเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันอย่างจริงจังและเร่งด่วน ดังที่เราจะเห็นว่าหลายภาคส่วนในประชาคมโลกต่างก็กำลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ในการมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อปลดล็อกปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ไม่ให้ปัญหาที่มีอยู่แย่ลงกว่าเดิม รวมถึงพยายามฟื้นฟูให้ธรรมชาติทั้งหมดกลับมาดีเช่นเดิม
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและอยู่ในช่วงที่ประชาคมโลกกำลังดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายในเวลาอันใกล้นี้ก็คือ เป้าหมาย "ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)" อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ จำเป็นต้องเริ่มต้นดำเนินการด้วยกลไกสำคัญทั้ง 3 กลไก อันได้แก่ "ลด" การปล่อยคาร์บอน, เพิ่มการ "ดูดกลับ" คาร์บอนคืนจากชั้นบรรยากาศ และ "ชดเชย" การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งในปัจจุบัน องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงระดับบุคคลทั่วไป ต่างก็เริ่มใช้ 3 กลไกนี้เป็นแนวทางที่จะลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง ในระดับประเทศ ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ประเทศไทยมีเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) ซึ่งจะลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างน้อย 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในระดับองค์กร คือองค์กรต่าง ๆ เริ่มทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความตระหนักและมีส่วนร่วมต่อสถานการณ์ก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน จึงนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ส่วนในระดับบุคคลที่อยู่ในฐานะผู้บริโภค ก็มีส่วนร่วมได้ด้วยการลดการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน เดินทางด้วยยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดหรือขนส่งสาธารณะ การลดปริมาณขยะ ลดอาหารเหลือทิ้ง เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีตรารับรองที่แสดงให้เห็นว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมสนับสนุนองค์กร/ผู้ผลิตที่ทำธุรกิจโดยตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมต่อสถานการณ์ก๊าซเรือนกระจก
"ลด" จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มได้ที่ตัวเรา
แม้จะเป็นส่วนที่เล็กที่สุด แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด หากไม่มีใครคิดที่จะเริ่มต้น เราก็จะไม่มีวันที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าได้ เพราะก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ดังนั้น เพียงแค่เราเริ่มต้นที่ตัวเราเองที่จะช่วย "ลด" การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยคนละเล็กคนละน้อย ร่วมกับหลาย ๆ คนที่มีจิตสำนึกไปในทิศทางเดียวกัน การจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น และผลกระทบที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกก็จะลดลง
แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับบุคคลนั้นแท้จริงแล้วไม่มีอะไรยาก เราทุกคนสามารถทำได้ เพียงแค่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในบ้านเรือน/สถานที่ทำงาน เมื่อไม่ใช้งานก็ปิดให้หมด ดึงปลั๊กออก ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้าหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะเท่าที่ทำได้ การลดปริมาณขยะด้วยการแยกขยะ พลาสติกที่รียูสหรือรีไซเคิลได้ไม่ควรใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือแม้แต่การเลือกบริโภคอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากการขนส่งก็ทำได้เช่นกัน รวมถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายรับรองว่าสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นต้น
ส่วนแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร เริ่มต้นอาจมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการใช้พลังงานอย่างประหยัดและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ปรับเปลี่ยนแหล่งที่มาของพลังงาน โดยลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ แทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การปรับปรุงระบบไฟฟ้าในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ การใช้อุปกรณ์สำนักงานอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด การบริหารจัดการขยะในองค์กร ในขั้นต่อมา จะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิต การซ่อมบำรุง การลงทุนในเครื่องจักรรุ่นใหม่ ๆ ที่ปล่อยคาร์บอนออกมาน้อยกว่า หรือลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้เทคโนโลยีออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
เมื่อลดได้ไม่มาก ต้องเพิ่มการ "ดูดกลับ"
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็อาจจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์เป็นตัวเลขที่สูงนัก ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงนั้นมากพอที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ กลไกต่อมา จึงเป็นการ "เพิ่มการดูดกลับ" ในขั้นนี้ จะเป็นกระบวนการที่เพิ่มศักยภาพในการดักจับและเก็บกักก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คืนจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งวิธีธรรมชาติและการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นโซลูชัน
สำหรับวิธีตามธรรมชาติ ทั้งระดับบุคคลและระดับองค์กรสามารถทำได้ด้วยวิธีเดียวกัน นั่นก็คือ การร่วมกิจกรรมปลูกป่า เนื่องจากพืชมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการสังเคราะห์แสง ระดับบุคคล เริ่มจากการเพิ่มการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างบริเวณบ้าน ใช้ปุ๋ยหมักจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เศษอาหารและใบไม้ ในการเพิ่มสารอาหารให้กับต้นไม้ที่ปลูกและดินที่ใช้ปลูกต้นไม้ และยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนในดินด้วย หรืออาจเข้าร่วมกิจกรรมโครงการปลูกป่าที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้น และร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนโครงการปลูกป่าก็ทำได้เช่นกัน
ส่วนในระดับองค์กร ส่วนใหญ่องค์กรต่าง ๆ มักจะมีงบประมาณในส่วนของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว ดังนั้น การปลูกป่าในระดับองค์กรจึงมาในรูปของกิจกรรมเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การทำโครงการปลูกป่าด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย เพื่อทดแทนปริมาณกระดาษที่องค์กรนำมาใช้ในธุรกิจ หรือเพื่อชดเชยคาร์บอน เพื่อให้พื้นที่ป่าไม้ที่ปลูกขึ้นมาใหม่ทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศกลับคืนไป ยิ่งปลูกต้นไม้ได้มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความสามารถในการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ศักยภาพในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร อาจทำได้มากกว่าวิธีตามธรรมชาติ เราจึงเห็นองค์กรในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากเริ่มหันมาลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับก๊าซเรือนกระจก ที่เดิมทีจะถูกปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้จะดักจับก๊าซเรือนกระจกเอาไว้ไม่ให้ถูกปล่อยออกไป จากนั้นจะดูดกลับคืนมาและกักเก็บไว้เพื่อนำไปใช้ในประโยชน์อื่น ๆ ภายในองค์กร หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ หากเป็นองค์กรขนาดเล็กที่ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะลงทุนในเทคโนโลยีเช่นนี้ ก็อาจเข้าร่วมกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก หรือพาร์ตเนอร์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรปล่อยออกไป
"ชดเชย" ทางเลือกสุดท้ายที่ "ลด" ไม่ได้ "ดูดกลับ" ก็ยาก
หากเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สำหรับองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าที่กำหนด ไม่สามารถลดการปล่อยและเพิ่มการดูดกลับได้ทั้งหมดจากโครงการปลูกป่าหรือฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการจะชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร สามารถซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จากโครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) โครงการขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO มา "ชดเชย" ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรได้
เมื่อองค์กรต่าง ๆ มีการทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) จะเห็นข้อมูลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถนำข้อมูลนี้มาประเมินศักยภาพขององค์กรในการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรหรือเพิ่มการดูดกลับ เพื่อให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรปล่อยสู่บรรยากาศ แต่ถ้ายังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนที่ไม่สามารถลดได้ ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากองค์กรอื่นที่สามารถลดและเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าปริมาณที่ปล่อย มาชดเชยในส่วนที่องค์กรยังลดไม่ได้นั่นเอง
โดยที่มาของคาร์บอนเครดิต คือสิทธิที่เกิดจากกระบวนการลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ขององค์กร โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ สิทธิดังกล่าวสามารถวัดปริมาณและนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้ หากมีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ปริมาณคาร์บอนที่เหลือก็จะถูกนำมาตีราคา และสามารถนำไปจำหน่ายในรูปแบบคาร์บอนเครดิต ให้กับองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการโควตาการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าวจะต้องมีการรับรอง ตามระเบียบหรือวิธีการของทางราชการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล สร้างความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสในตลาดคาร์บอนเครดิต โดยในประเทศไทยมี องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) องค์การมหาชน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นการเติบโตของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเติบโตมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในภาคเอกชน
การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ผ่าน 3 กลไก "ลด-ดูดกลับ-ชดเชย" ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวันเท่าที่ทำได้ เพิ่มการดูดกลับโดยร่วมโครงการปลูกต้นไม้ ซึ่งมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงนับกิจกรรมการชดเชยคาร์บอนที่นิยมทำกันมากที่สุด และชดเชย ในส่วนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อผลักดันให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง เมื่อกลไกเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราก็จะสามารถปลดล็อกโลกสีเขียวใบนี้ให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างที่คาดหวัง และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไปได้
บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com