นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตประเวศว่า กทม. ได้ติดตามควบคุมและเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ ซึ่งเป็นพื้นที่พบรายงานสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (warroom) และประชุมสื่อสารความเสี่ยงของการระบาดโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมรวบรวมข้อมูลจำนวนสุนัขจรจัดภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยฯและชุมชนโดยรอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทีมสอบสวนควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุก (SRRT)ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข 22 วัดปากบ่อ ศูนย์บริการสาธารณสุข 46 กันตารัติอุทิศ ศูนย์บริการสาธารณสุข 57 บุญเรือง ล้ำเลิศ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ร่วมกับสำนักงานเขตประเวศ และปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่สอบสวน ควบคุม และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ค้นหาคนและสัตว์สัมผัสโรค นำสัตว์จรจัดที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ไปกักสังเกตอาการที่ศูนย์ควบคุมสุนัข กทม. เขตประเวศ
นอกจากนี้ ยังได้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์เลี้ยงในชุมชนพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. - 7 ธ.ค. 67 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน จำนวน 4,236 โด๊ส ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงในชุมชนพื้นที่เสี่ยงจำนวน 470 ตัว รวมทั้ง รายงานผลการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขจำนวน 6 ตัว เป็นสุนัขจรจัดจากศูนย์กำจัดมูลฝอยฯ ที่นำมากักสังเกตอาการที่ศูนย์ควบคุมสุนัขฯ โดยประสานสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า โดยเน้นย้ำให้เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้สัมผัสกับสัตว์อื่นที่ต้องสงสัย หากสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ พร้อมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ และเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ผ่านช่องทางเครือข่ายการสื่อสารการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในชุมชน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ขอแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข-แมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนฯ กรณีถูกสัตว์กัด หรือข่วนให้รีบล้างแผลโดยเร็วด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายครั้ง พร้อมใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณแผล สังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน และพบแพทย์ทันทีโดยสามารถเข้ารับบริการตรวจรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ขณะเดียวกัน สนอ. มีมาตรการเชิงรุกในการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยให้บริการตามเรื่องร้องขอหน่วยจากประชาชน ชุมชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ และบูรณาการออกหน่วยแพทย์และสัตวแพทย์เคลื่อนที่ในวัดและศาสนสถาน ช่องทางการติดต่อประสานงานแจ้งเหตุกรณีพบสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สายด่วน กทม. 1555 ภายใน 24 ชั่วโมง สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2248 7417 หรือ 0 2328 7460 และสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2004 4407
นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข 22 วัดปากบ่อ ร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ทำหมันสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่เขตประเวศและใกล้เคียง รวมถึงส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน หากถูกสัตว์จรจัดกัด หรือเลียให้รีบพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ สรุปผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในคน เข็มที่ 1 จำนวน 2,193 คน และเข็มที่ 1 รวมเข็มที่ 2 จำนวนทั้งสิ้น 4,236 เข็ม ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จำนวน 300 ตัว จับสุนัขมาสังเกตอาการ 185 ตัว โดยสุนัขสังเกตอาการตาย 6 ตัว ส่งตรวจพบเชื้อ 2 ตัว ไม่พบเชื้อ 1 ตัว ขณะนี้รอผลการตรวจ 3 ตัว