กรมพัฒนาที่ดินปลื้ม! โชว์ผลสำเร็จการจัดงานวันดินโลก 2567 ยกทัพจัดเต็มความรู้ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน @ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปากช่อง

ข่าวทั่วไป Monday December 16, 2024 10:24 —ThaiPR.net

กรมพัฒนาที่ดินปลื้ม! โชว์ผลสำเร็จการจัดงานวันดินโลก 2567 ยกทัพจัดเต็มความรู้ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน @ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปากช่อง

"วันดินโลก ปี 2567" กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ได้ยกทัพจัดเต็มนิทรรศการความรู้ศาสตร์ปฐพีวิทยาซึ่งได้รวบรวมผลงานทางวิชาการทั้งหมดมาจัดแสดงให้ได้เรียนรู้ และจัดอบรมฝึกการปฏิบัติจนสามารถกลับไปปฏิบัติได้ มีการจัดเป็นพื้นที่ให้มีความสวยงามที่เรียกว่า "นิทรรศการที่มีชีวิต" ให้ทุกท่านได้มาเยี่ยมชม สัมผัส ศึกษา เรียนรู้ ในบรรยากาศเหมือนเที่ยวชมสวนเกษตร โดยมีไฮไลท์ที่ห้ามพลาดไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพกับสัญลักษณ์ลูกโลกยักษ์ท่ามกลางทุ่งทานตะวันขนาดใหญ่ ทุ่งข้าวโพด ทุ่งปอเทืองขนาดใหญ่ ทุ่งคอสมอส ทุ่งดอกไม้ แปลงผักเมืองหนาว และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นวิวที่สวยงามอยู่ในทุกจุดครอบคลุมพื้นที่การจัดงาน 573 ไร่ ถือเป็นแลนมาร์คของงานเลยก็ว่าได้ ผู้มาร่วมงานสามารถปั่นจักรยานชมธรรมชาติกับบรรยากาศที่สดชื่น สัมผัสอากาศที่เย็นสบายในเดือนธันวาคม และพิเศษสำหรับผู้ที่มาลงทะเบียน และร่วมกิจกรรมภายในงานจะมีของที่ระลึกให้กับทุกท่าน โดยมี 5 โซนนิทรรศการหลัก ซึ่งแต่ละโซนมีรายละเอียด ดังนี้

โซนที่ 1 โซนนิทรรศการกลาง ในปีนี้ได้นำองค์ความรู้ด้านดินที่สอดคล้องกับหัวข้อ ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน มาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้มีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการวางแผนมาตรการการจัดการดินที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

- นิทรรศการดินโลก นำเสนอความเป็นมาของวันดินโลก รางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ซึ่งประเทศไทยและ FAO ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 เพื่อยกย่องผู้ที่จัดวันดินโลกที่สามารถสร้างการรับรู้เรื่องดินได้อย่างโดดเด่น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชดำรัสคัดตัดตอน เป็นชื่อรางวัล และประดิษฐานในเหรียญรางวัลนิทรรศการรางวัล Glinka World Soil prize ซึ่งเป็นปีที่ 9 โดยกรมพัฒนาที่ดินได้รับรางวัลชนะเลิศ

- นิทรรศการ "จากศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำสู่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA)" แสดงความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์ฯ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้แบบเบ็ดเสร็จด้านการพัฒนาที่ดินให้กับประชาชนและผู้สนใจได้เลือกนำไปปฏิบัติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ในอนาคต ในพื้นที่ศูนย์ฯ ยังเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA)" ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรดินของภูมิภาคเอเชีย และส่งเสริมการจัดการทรัพยากรดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

- นิทรรศการวิชาการ "ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน" เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจ ดูแลดิน ให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืน และเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่มั่นคง ซึ่งนำเสนอพลังของดินที่สร้างชีวิต ในขณะเดียวกัน ถ้าดินไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี จะสามารถทำลายทุกชีวิตได้เช่นเดียวกัน เช่น การชะล้างพังทลายของดิน และปัญหาดินเสื่อมโทรม นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการหน่วยงานร่วมต่าง ๆ อีกหลายหน่วยงาน

โซนที่ 2 โซนนิทรรศการมีชีวิต 12 ฐาน โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้นำผลจากงานวิจัยที่สำเร็จร่วมกับแนวพระราชดำริด้านการจัดการดิน และการบริหารพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำจัดทำเป็นแปลงสาธิต เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ สามารถนำองค์ความรู้นี้ไปปรับใช้ตามบริบทแต่ละพื้นที่ สำหรับข้อมูลดินและการจัดการศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ ดินที่พบในศูนย์ มีทั้งหมด 3 ชุดดิน ได้แก่ ชุดดินกลางดง ชุดดินมวกเหล็ก และชุดดินวังสะพุง ดินส่วนใหญ่จะมีเนื้อดินเหนียว ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และบางพื้นที่จะเป็นดินตื้นพบอยู่ใกล้พื้นที่ที่เป็นภูเขา การใช้ประโยชน์ที่ดินรอบ ๆ ศูนย์ ส่วนมากจะปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล เช่น น้อยหน่า โดยโซนนิทรรศการมีชีวิตมีทั้งหมด 12 ฐาน อาทิ

- นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตรของศูนย์ฯ จัดทำแปลงสาธิตการจัดการน้ำอัจฉริยะ โดยระบบ IOT เป็นการจัดการน้ำอย่างชาญฉลาด ในการตรวจสอบและติดตามปริมาณน้ำ ด้วยระบบตรวจวัดอัตโนมัติ และมีการจัดการการให้น้ำด้วยอุปกรณ์ควบคุมขนาดเล็กและไร้สาย

- ธนาคารอาหารชุมชน จัดทำแปลงสาธิตธนาคารอาหารชุมชน พื้นที่ 15 ไร่ ประกอบไปด้วยพืชปรับปรุงบำรุงดิน (ปอเทืองและถั่วพร้า) พืชไร่ ได้แก่ ข้าว และข้าวสาลี พืชผักเมืองหนาวหลากสี 13 ชนิด

- การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง จัดทำแปลงสาธิตการผลิตมันสำปะหลังอย่างมืออาชีพ โดยนำเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านนำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน โดยจัดแสดงแปลงสาธิตการเรียนรู้ด้านการผลิตมันสำปะหลัง มีพื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ ระยะปลูก 1.2 x 1.2 เมตร โดยมีรายละเอียดวิธีการดำเนินงานดังต่อไปนี้ 1.นำดินมาวิเคราะห์และใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 2. ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์โดยเน้นปุ๋ยหมัก อัตรา 3 ตัน/ไร่ 3. ให้น้ำโดยระบบน้ำหยด 4. ให้น้ำหมักชีวภาพโดยการฉีดพ่นทางใบ และทางราก 5. เตรียมท่อนมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 75 และแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูก

- จัดทำแปลงสาธิตมันรักษ์โลก แปลงทดสอบวิธีการปลูกมันสำปะหลังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกักเก็บคาร์บอนลงดิน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ส่งเสริมการผสมปุ๋ยใช้เองร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ จากนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน

- จัดทำแปลงสาธิตผลิตอาหารในครัวเรือน ตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ทั้งการปลูกผักสวนครัว และการเลี้ยงปลา ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่โดยการทำเกษตรผสมผสาน และการขุดบ่อให้สามารถเก็บน้ำได้ นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงดินโดยการ ปรุง หมัก บ่ม ห่มดิน เพื่อสร้างสมดุลในดินอย่างยั่งยืน และเพื่อนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาทำปุ๋ยหมัก

- แปลงสาธิตหญ้าแฝกมหัศจรรย์ สร้างดิน สร้างชีวิต จัดแสดงแปลงสาธิตรวมพันธุ์หญ้าแฝก รูปแบบการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน รวมถึงมีการเตรียมกล้าหญ้าแฝกไว้แจกจ่ายสำหรับผู้สนใจ

- แปลงสาธิตพันธุ์ถั่วนานาพัฒนาดินไทย จัดแสดงพันธุ์ถั่วคลุมดินชนิดต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการปรับปรุงดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ

- สวนสืบสาน การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 ศูนย์ ได้แก่ 1) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร 3) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ 4) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 5) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส 6) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และโครงการศึกษาการพัฒนาดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

- ห้องเรียนสุขภาพดี ซึ่งสมาคมดินโลก เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และกรมพัฒนาที่ดิน ได้นำแนวพระราชดำริด้านการจัดการดิน และการบริหารพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำจัดทำเป็นห้องเรียนธรรมชาติ พื้นที่ 23 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้กับผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ มาเรียนรู้วิธีการจัดการดิน ด้วยวิถีธรรมชาติเพื่อสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม และจะทำเป็นศูนย์เพาะกล้าไม้โดยไม่ใช้ถุงพลาสติก

โซนที่ 3 โซนการเสวนา จะมีเสวนาวิชาการหมอดินอาสา หัวข้อ "ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน" โดยหมอดินดีเด่น ปี 2567 และเสวนานานาชาติวันดินโลก หัวข้อ "Caring for soils: measure, monitor, manage"

โซนที่ 4 โซนกิจกรรมประกวดแข่งขันต่าง ๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษา หมอดินอาสา และผู้สนใจ อาทิ แข่งขันแล็ปกริ๊งตรวจวัดจัดการดิน ประกวดวาดภาพจากดิน แข่งขันแชมเปี้ยนหมอดินตรวจดิน ประกวดกูรูรู้ดิน

โซนที่ 5 โซนกิจกรรม DIY งานศิลป์ทำจากดินและวัสดุธรรมชาติ อาทิ ผ้ามัดย้อมจากชุดดิน สบู่จากถ่านหญ้าแฝก กำไลข้อมือจากหญ้าแฝก ไข่เค็มดินสอพองใบเตย Up Cycling ที่รองแก้วจากวัสดุรีไซเคิล กิจกรรม Workshop สอนการทำน้ำหมักรสจืด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมายมาย อาทิ เดิน-วิ่งเทรลท่ามกลางธรรมชาติ การอบรมต่าง ๆ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง การแสดงดนตรีสด ร้านจำหน่ายสินค้าเกษตร ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรับชมภาพการจัดงานวันดินโลกได้ตามช่องทาง เว็บไซต์กรมพัฒนาที่ดิน เว็บไซต์วันดินโลก เพจเฟซบุ๊ก : World Soil day วันดินโลก และเพจเฟซบุ๊ก : กรมพัฒนาที่ดิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ