กรมอนามัย แนะ มาตรการป้องกันโรคโนโรไวรัส หวั่นระบาดช่วงเทศกาล

ข่าวทั่วไป Monday December 16, 2024 14:31 —ThaiPR.net

กรมอนามัย แนะ มาตรการป้องกันโรคโนโรไวรัส หวั่นระบาดช่วงเทศกาล

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย โรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงรถหรือเรือท่องเที่ยว เป็นสถานเสี่ยงในการพบการระบาดของ "โนโรไวรัส" หลังพบการระบาดในงานกีฬาสี แนะประชาชน หน่วยงาน และผู้ประกอบกิจการ มีมาตรการเฝ้าระวังและดูแลสุขอนามัยตนเอง เนื่องจากช่วงเทศกาลจะมีประชาชนจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ และเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ เช่น การตรวจประเมินคุณภาพน้ำดื่ม น้ำใช้อย่างต่อเนื่อง ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ก่อนและหลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีเกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วงของนักเรียน และครูบุคลากร 2 โรงเรียน ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย อันเกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับ "น้ำและน้ำแข็ง" ที่บริโภคในช่วงสัปดาห์ของการจัดกิจกรรมกีฬาสี โดยโนโรไวรัส (Norovirus) มักจะแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว พบบ่อยตามโรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงรถหรือเรือท่องเที่ยว โนไวรัสเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน สามารถติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การสัมผัส และการหายใจ เช่น การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล โดยโนโรไวรัสมีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมงหลังการรับเชื้อ อาการที่พบส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการรุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ บางรายอาจทำให้มีอาการขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่

"ทั้งนี้ ประชาชนควรมีมาตรการในการป้องกันตนเองจากโรโนไวรัสตามคำแนะนำ ดังนี้ 1) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง 2) ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด 3) ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ก่อนและหลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และ 4) หลีกเลี่ยงดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด ส่วนหน่วยงานและสถานประกอบกิจการควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน ดังนี้ 1) การเติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่มและน้ำใช้ 2) การตรวจประเมินคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง 3) จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ และ 4) การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดีสำหรับการป้องกันโรค สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สามารถตรวจแนะนำและออกคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไขด้านสุขลักษณะของสถานประกอบกิจการการสุขาภิบาลและสุขวิทยาส่วนบุคคลของคนงาน" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ