ในเช้าวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เสียงหัวเราะสดใสดังมาจากลานกว้างหลังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนราษฎร์พัฒนา เด็ก ๆ กำลังวิ่งเล่นท่ามกลางกองทราย กองดิน และมุมเล่มน้ำ ที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อให้พวกเขาสัมผัสธรรมชาติ ครูและผู้ปกครองยืนยิ้มอยู่ไม่ไกล คอยดูแลอย่างอบอุ่น วันมหัศจรรย์ ที่คุณครูปล่อยให้เด็ก ได้เลือก เล่น เรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ การเล่นอย่างอิสระในพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อให้เป็น นิเวศของการเรียนรู้ของเด็ก ปฐมวัย
ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา(ซอยมูลนิธิ) เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ กำลังเป็นต้นแบบสำคัญที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ผ่าน "นิเวศสื่อสุขภาวะ" และกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงครอบครัวและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน โครงมหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย ณ ราษฎร์พัฒนา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายครูปฐมวัยทั่วประเทศ
จุดเริ่มต้นของ "นิเวศสื่อสุขภาวะ"
เมื่อพูดถึง "นิเวศสื่อสุขภาวะ" หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าคืออะไร แต่สำหรับครูซุพยาณี มูซอ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา(ซอยมูลนิธิ) บอกว่า แนวคิดนี้คือหัวใจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็ก ๆ "นิเวศสื่อสุขภาวะเป็นเหมือนรากฐานของการใช้ชีวิต เราต้องจัดการสื่อให้เป็นมิตร สร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นจินตนาการเด็ก และสนับสนุนพัฒนาการของพวกเขาทั้งกาย ใจ และสติปัญญา" สื่อในที่นี้ ไม่ใช่เพียงสื่อที่เป็นอุปกรณ์แต่ รวมถึงการใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เชื่อมโยงธรรมชาติและการเรียนรู้เข้าไว้ด้วยกัน ก็ถือว่าเป็นสื่อดี อีกด้วย
พื้นที่ 3 ดี: เล่น เรียน รู้ อย่างสมดุล
ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา(ซอยมูลนิธิ) นำแนวคิดพื้นที่ 3 ดีมาประยุกต์ใช้ โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านสิ่งแดวล้อมรอบตัว การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผู้คน และการเล่นอิสระ ผ่านฐานกิจกรรมหลากหลาย เช่น
- การเล่นสนุกกลางแจ้ง: กิจกรรมที่ใช้ธรรมชาติ เช่น ดิน ไม้ ทราย และน้ำ เพื่อให้เด็กได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
- การเล่น Loose Parts การเล่นกับวัสดุและสิ่งของที่สามารถนำมาต่อ ประกอบ หรือประดิษฐ์ได้ตามจินตนาการ
- กิจกรรมศิลปะ การสร้างงานศิลปะจากวัสดุธรรมชาติ ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและสมาธิ
- กิจกรรมแนววิทยาศาสตร์ การทดลองที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและความคิดสร้างสรรค์
- กิจกรรมสนุกตามอัธยาศัย เด็กประดิษฐ์สื่อ สร้างสรรค์อย่างอิสระตามวัสดุอุปกรณ์ที่ครูเตรียมไว้ให้
- กิจกรรมแปลงเกษตร เด็ก ๆ ได้ปลูกผัก ดูแลต้นไม้ และเรียนรู้เรื่องโภชนาการ
- กิจกรรมแป้งปั้น การสร้างของเล่นจากแป้งช่วยฝึกสมาธิและความคิดสร้างสรรค์
- กิจกรรมครอบครัว 3 ดี การจัดสื่อสร้างสรรค์ในบ้าน ผู้ปกครองและเด็กได้ร่วมกันประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ในบ้าน ส่งเสริมจินตนาการและความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเอง
ครูสุกัญญา เย็นประสิทธิ์ ครูหัวหน้าโครงการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "กิจกรรมเหล่านี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก เป็นการสร้างพื้นฐานของชีวิต เด็กได้เรียนรู้การจัดการตนเอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น และยังเป็นโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้าใจธรรมชาติของเด็ก เราจึงอบรมผู้ปกครองตั้งแต่วันแรกที่เด็กเข้ามา เพื่อให้เขาเห็นภาพรวมการพัฒนาเด็กครบทุกด้าน และผู้ปกครอง ถือว่าเป็นสื่อบุคคลที่สำคัญยิ่งต่อเด็กๆ "
ปัจจุบัน เด็กจำนวน 167 คนในศูนย์ฯ มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้และเล่นอย่างสร้างสรรค์ ผู้ปกครองเริ่มลดการใช้จอในครอบครัว และหันมาทำกิจกรรมร่วมกับลูกมากขึ้น เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ทุกวันนี้ ผู้ปกครองหลายคนในชุมชนเริ่มลดเวลาหน้าจอของเด็ก และหันมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่สร้างสรรค์มากขึ้น ครอบครัวได้กลับมามีช่วงเวลาคุณภาพร่วมกัน และเด็ก ๆ ได้พัฒนาทักษะที่สำคัญสำหรับชีวิต
"ทุกกิจกรรมที่เราจัดทำ มีเป้าหมายเพื่อสร้างนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นจิ๋ว ที่สามารถเข้าใจตนเอง เท่าทันสื่อ และพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวอย่างสร้างสรรค์ สื่อคือสิ่งแวดล้อมที่ทรงพลังที่สุด การเล่น การเรียน และการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ จะเชื่อมโยงกับสื่อที่พวกเขาได้รับ หากเราจัดการสื่อให้ดี เด็กจะมีพื้นที่เรียนรู้และเติบโตอย่างปลอดภัยทั้งกาย ใจ และความคิด" ดร.สรวงธร นาวาผล ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ กล่าว
พร้อมกับฝากคำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง เพื่อลดการใช้จอ เพิ่มกิจกรรมสร้างสุขภาวะให้กับเด็กๆ ดังนี้
- เด็กเล็กควรใช้จอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง
- เลือกเนื้อหาที่สร้างสรรค์ เช่น การ์ตูนส่งเสริมทักษะการคิด หรือคลิปวิดีโอที่ให้ความรู้กับเด็กๆ
- กำหนด "เวลาปลอดจอ" ในบ้าน เช่น ช่วงรับประทานอาหาร หรือก่อนนอน 1 ชั่วโมง
- จัดมุมเล็ก ๆ ในบ้านสำหรับเด็กๆ เช่น มุมศิลปะ มุมเล่นดินน้ำทราย ตัวต่อ มุมหนังสือ
- ใช้วัสดุที่มีในบ้าน เช่น กล่องกระดาษ ขวดพลาสติก หรือเศษผ้า ให้ลูกได้สร้างของเล่นเอง
- ส่งเสริมให้เด็กได้ เรียนรู้ประดิษฐ์ สื่อสร้างสรรค์จากวัสดุธรรมชาติ หรือจากวัสดุท้องถิ่น
- ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ จากภูมิปัญหาของครอบครัว เช่น งานบ้าน งานครัว งานอาชีพ ของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง
- ให้เด็กได้เล่นนอกบ้าน เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นน้ำ หรือวิ่งเล่นในสวน
- จัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น การปลูกผักในแปลงเล็ก ๆ หรือการให้อาหารสัตว์
- สอนลูกให้รู้เท่าทันสื่อ เลือกเนื้อหาที่เหมาะสม และเข้าใจผลกระทบของการใช้สื่อ
- พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่เขาดูหรือฟัง เพื่อพัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์
ดร.สรวงธร นาวาผล ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า "การสร้างนักสื่อสารสุขภาวะในบ้านคือการให้ลูกเรียนรู้ที่จะใช้สื่ออย่างชาญฉลาด พร้อมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว การลดเวลาหน้าจอ เพิ่มกิจกรรมสร้างสรรค์ การเล่น การอ่าน สร้างกิจกรรมที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในครอบครัว เด็ก ๆ จะเติบโตอย่างสมดุลและมีความสุขในทุกมิติ "