ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.พิรุณ สัยยสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหาร ทส. ร่วมขบวนเดินรณรงค์ เที่ยวงานกาชาดแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดใช้ Single-use plastic คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร
ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า งานกาชาดประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 22 ธันวาคม 2567 ช่วงเวลา 11.00 - 22.00 น. ภายใต้แนวคิด "ทศมราชา 72 พรรษาถวายพระพร" โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมออกร้านกาชาด บริเวณร้านกาชาดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โซนที่ 3 ส่วนราชการ ภายใต้แนวคิด "ทศมราชา นทีชีวา ประชาร่มเย็น" อีกทั้งมีกิจกรรมภายในร้านกาชาด ทส. ที่น่าสนใจหลายกิจกรรม ทั้งการแสดงนิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวม 21 โครงการ กิจกรรมให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ กิจกรรมร่วมถ่ายภาพกับโมเดลน้องหมูเด้ง การแสดงจาก 20 มาสคอตของหน่วยงานในสังกัด ทส. การแสดงดนตรี ตลอดจนร่วมลุ้นรางวัลกับกิจกรรมสอยดาว รวมทั้งการแจกกล้าไม้และน้ำดื่ม "ฟรี" ตลอด 12 วัน 12 คืน
นอกจากนี้ ทส. โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ กรมลดโลกร้อน ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนประชาชนที่มาเที่ยวงานร่วมกันงดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) จำนวน 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว (ถุงก๊อบแก๊บ) แก้วพลาสติกและหลอดพลาสติก และโฟมบรรจุอาหาร อีกทั้งเชิญชวนให้พกถุงผ้า กระบอกน้ำส่วนตัว และเดินทางมาเที่ยวงานโดยรถสาธารณะ เพื่อร่วมกันลดการสร้างขยะใหม่อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ร้านค้า ต่างๆ และผู้มาเที่ยวงานร่วมกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งภายในงานจะมีเจ้าหน้าที่ และจิตอาสา จากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำการคัดแยกขยะตามจุดต่างๆ ประกอบด้วย ถังสีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล ถังสีเขียวสำหรับขยะอินทรีย์ ถังสีฟ้าสำหรับขยะทั่วไป ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา มีปริมาณขยะเกิดขึ้นในงานกาชาด จำนวน 11 วัน รวมกว่า 318 ตัน เฉลี่ยวันละ 28.90 ตัน แบ่งเป็น ขยะทั่วไป 293,989 กิโลกรัม (92.48%) ขยะรีไซเคิล 14,984.5 กิโลกรัม (4.71%) ขยะเศษอาหาร 8,930.7 กิโลกรัม (2.81%) โดยขยะที่มีการคัดแยกประเภทเรียบร้อยแล้วจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยขยะเศษอาหาร สำนักงานเขตนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนที่เหลือนำเข้าโรงงานหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ของกรุงเทพมหานคร คัดแยกขวดพลาสติกใสและขยะรีไซเคิลอื่นๆ นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนขยะทั่วไป ได้รวบรวมส่งกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ สุดท้าย ขอขอบคุณประชาชนที่ร่วมกันคัดแยกขยะและทิ้งในจุดที่จัดเตรียมไว้ จะช่วยให้กรุงเทพมหานครสามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำให้งานกาชาดเป็นโมเดลต้นแบบของงานมหกรรมรื่นเริงการกุศลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Fair) ให้กับงานอื่น ๆ ต่อไปด้วย