นางชุติสา ศาสตร์สาระ ผู้อำนวยการเขตดินแดง กทม. กล่าวถึงการตรวจสอบร้านค้าในย่านห้วยขวางและอาร์ซีเอ ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารจีนและร้านจำหน่ายสินค้าจากจีนว่า สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามตรวจสอบสถานประกอบการในพื้นที่ให้ดำเนินกิจการโดยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของประชาชนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เขตดินแดง โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเขตดินแดง สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ สถานีดับเพลิงและกู้ภัย เพื่อตรวจสอบกวดขันสถานประกอบการให้ดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง พร้อมจัดทำแผนลงพื้นที่เพิ่มเติม ดำเนินการประสานกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบสถานประกอบการของกลุ่มธุรกิจต่างชาติ เพื่อกวดขันให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวต่อไป
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พบร้านฉงชิ่ง เกาเก้า บริเวณถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง มีการดัดแปลงเป็นร้านอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยอาคารดังกล่าวเคยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์พักอาศัย ซึ่งสำนักงานเขตฯ พร้อมสำนักการโยธา (สนย.) กทม. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับตัวแทนเจ้าของอาคาร พบการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร อาทิ ดัดแปลงอาคารให้ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต ใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ดัดแปลง หรือใช้ หรือยินยอมให้บุคคลอื่นดัดแปลง เพื่อใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถให้ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต สำนักงานเขตฯ จึงได้มีหนังสือที่ กท 7603/52 ลงวันที่ 16 ต.ค. 67 ให้บริษัท ขุมทอง รัชดา จำกัด (เจ้าของอาคาร) แสดงพยานเอกสารหลักฐานใบอนุญาตให้ทำการดัดแปลงอาคารต่อสำนักงานเขตฯ ภายใน 15 ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งปัจจุบันพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว เจ้าของอาคารยังไม่แสดงเอกสารหลักฐานให้ทราบ ส่วนความผิดฐานดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต ขณะนี้อยู่ระหว่างประสาน สนย. เพื่อขอถ่ายใบอนุญาตและแบบแปลน เพื่อประกอบการดำเนินการตรวจสอบตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ส่วนความผิดฐานมีการใช้เพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตจากอาคารประเภทไม่ควบคุมการใช้ เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างมีคำสั่งให้ระงับการใช้อาคารและมีคำสั่งให้ระงับการใช้พื้นที่ หรือสิ่งที่สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้า-ออกของรถ เพื่อการอื่น
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ยังมีแผนการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. ที่ดำเนินการตรวจสุขลักษณะของสถานที่ประกอบกิจการและมีการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อทดสอบความปลอดภัย โดยบูรณาการร่วมกับสำนักอนามัย กทม. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบสถานประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ หากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ ขณะเดียวกันจะเพิ่มการรณรงค์และประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการนำเข้าอาหาร ฉลากอาหาร เพื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ของสำนักงานเขตฯ เพื่อส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ประสานขอความร่วมมือสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในการลงพื้นที่ตรวจสอบและ เฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ระหว่างเดือน พ.ค. - มิ.ย. 67 รวมทั้งสิ้น 208 แห่ง และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการอาหารรับทราบข้อกฎหมายในการนำผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร และแสดงฉลากอาหารไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดมาจำหน่าย แนะนำให้เลือกสินค้าที่ถูกกฎหมายมาจำหน่ายในร้าน โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย มีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ระบุชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน แสดงส่วนประกอบ น้ำหนักสุทธิ และเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. การรับประทานอาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร (ไม่มี อย.) ไม่มีฉลากภาษาไทย อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่แน่ชัด ไม่มีการรับรองว่าสถานที่ผลิตนั้นถูกสุขลักษณะหรือไม่และใส่สารใดลงไปในอาหารบ้าง
สำหรับผลการตรวจจับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ถูกกฎหมาย โดยตรวจร่วมระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สนอ. ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป. อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานเขตท้องที่ ระหว่างเดือน ก.ย.- ต.ค. 67 จำนวน 4 ครั้ง ได้ตรวจสอบมินิมาร์ท 37 แห่ง พบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง 23 แห่ง (ร้อยละ 62.16) แสดงฉลากถูกต้อง 4 แห่ง และร้านปิดในวันที่ตรวจสอบ 10 แห่ง ทั้งนี้ ในกรณีที่พบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง หรือการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้มีการยึดสินค้าบางส่วน และจะสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินการคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สนอ. อยู่ระหว่างนำเรียนเสนอปลัด กทม. พิจารณาลงนามในหนังสือสั่งการให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบสถานประกอบการอาหารที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศทุกแห่งในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้ปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยอาหาร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการอาหารทราบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศ และสรุปผลการดำเนินการให้ สนอ. ทราบเพื่อจะได้รวบรวมสรุปเสนอผู้บริหารทราบต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนผู้บริโภคพบเบาะแสการกระทำผิดหรือสงสัยว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย สามารถแจ้งข้อมูลร้องเรียนได้ที่แอปพลิเคชัน BKK Food Safety หรือ Traffy Fondue หรือสายด่วน 1555