นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตถุงพลาสติก ซอยบางกระดี่ 32 แขวงแสมดำว่า สปภ. ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพร้อมรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้โรงงานในซอยบางกะดี่ 32 เขตบางขุนเทียน จากการตรวจสอบพบว่า เพลิงลุกไหม้โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติกและขวดน้ำของ บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ซึ่งเพลิงได้ลุกไหม้บริเวณเครื่องจักรในสายการผลิต มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายประมาณ 2 ไร่ 75 ตารางวา (3,500 ตารางเมตร) สาเหตุเพลิงไหม้และค่าเสียหายอยู่ระหว่างการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลแสมดำ โดย สปภ. ใช้ระยะเวลาในการดับเพลิงค่อนข้างนานประมาณ 4 ชั่วโมง เนื่องจากมีสารเคมีไวไฟ อาทิ สารเอททิลอะซิเตท (EA) และสารทำละลาย (Solvent) จำนวนมาก หลังจากเพลิงสงบแล้วได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางขุนเทียนทำการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นมาอีกและสร้างความอบอุ่นใจให้กับประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย (สนอ.) สำนักการระบายน้ำ (สนน.) สำนักการโยธา (สนย.) สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางขุนเทียน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองทุนประกันวินาศภัย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุและแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมประกาศเขตเพลิงไหม้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยสั่งห้ามเข้าใช้และเข้าพื้นที่อาคารอย่างเด็ดขาดจนกว่าจะแก้ไข เพื่อบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย พร้อมตรวจสอบอาคารเบื้องต้นพบอาคารดังกล่าวเกิดการวิบัติจนเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน จึงเห็นควรให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญตามหลักวิศวกรรมและรายงานผลให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดตั้งจุดพักพิงชั่วคราว (ศูนย์สร้างสุขฯ) เพื่อใช้รับรองประชาชนกรณีอพยพ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เฝ้าระวังติดตามพื้นที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิด รวมทั้งออกคำแนะนำให้ระงับการประกอบกิจการทันทีจนกว่าจะปรับปรุงโครงสร้างการทำงานให้มีความปลอดภัย
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ถนอม ทองสิมา ได้จัดตั้งหน่วยปฐมพยาบาลเพื่อดูแล ตรวจสุขภาพประชาชนในหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เกิดเหตุ โดยผลการตรวจสุขภาพในเบื้องต้นพบไม่มีประชาชนบาดเจ็บ หรือได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ได้ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน รวมถึงค้นหาและคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอัคคีภัยดังกล่าวต่อไป
ส่วนการตรวจสอบคุณภาพอากาศและแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ สนน. ได้เก็บอย่างน้ำจากท่อน้ำทิ้งบริเวณด้านหน้าโรงงาน เพื่อนำไปวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเคมีในห้องปฏิบัติการทั้งด้านกายภาพ ด้านเคมีและจุลชีววิทยา ซึ่งจะใช้เวลาวิเคราะห์ผลประมาณ 5 วัน ส่วนกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่โรงงานและชุมชนโดยรอบ ผลการตรวจสอบไม่พบไอระเหยสารเคมีอันตราย Volentine Organic Carbons(VOCs) ในบรรยากาศและสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ สนอ. จะแจ้งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของสถานที่เกิดเหตุและแนวทางจัดการเศษวัสดุจากเพลิงไหม้และสารเคมีที่อาจตกค้างในพื้นที่อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สนอ. ได้จัดทำและดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ และภาวะฉุกเฉิน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน กทม. ได้แก่ สปภ. สนย. และสำนักงานเขต พร้อมหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการตรวจแนะนำความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิตการสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สนอ. กำหนดแผนการลงตรวจสอบสถานประกอบการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 17 ธ.ค. 67 - 22 พ.ค. 68