บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) เพื่อร่วมกันพัฒนาการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทยผ่านนวัตกรรมของแอสตร้าเซนเนก้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัยชาวไทยและขยายขอบเขตการวิจัยสำหรับพัฒนายารักษาโรคในประเทศไทย การนำรูปแบบการวิจัยทางคลินิกของแอสตร้าเซนเนก้ามาประยุกต์ใช้ จะช่วยเสริมประสิทธิภาพงานวิจัยด้านยารักษาโรคให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มุ่งยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือฯ ครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ลงนามฯ ร่วมกับ นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย
นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ Frontier Markets เปิดเผยว่า "ที่แอสตร้าเซนเนก้าเราให้ความสำคัญกับการวิจัยทางคลินิกเพื่อพัฒนายารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ป่วย ปัจจุบันขอบเขตการวิจัยของเราครอบคลุมกลุ่มโรคที่หลากหลาย ทั้งมะเร็งวิทยา, โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตและโรคเมตาบอลิซึม, โรคทางเดินหายใจและภูมิคุ้มกันวิทยา, การพัฒนาวัคซีนและภูมิคุ้มกันบำบัด, รวมถึงโรคหายาก การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จะเปิดโอกาสให้แอสตร้าเซนเนก้านำทรัพยากรด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ทันสมัย พร้อมความเชี่ยวชาญในการวิจัยทางคลินิกมาแบ่งปันสู่นักวิจัยชาวไทย เพื่อเป้าหมายในพัฒนายารักษาโรคร้ายให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย"
ศ.นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และแอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นก้าวสำคัญในพันธกิจร่วมกันของเราในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ให้ก้าวหน้า ด้วยการรวมความเชี่ยวชาญอันล้ำสมัยของแอสตร้าเซนเนก้า ในการพัฒนายาเข้ากับความเป็นเลิศในการวิจัยทางคลินิกของศิริราช เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ และทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นำมาซึ่งความหวังในการมีสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต"
ทางด้าน รศ.นพ. วินัย รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (SICRES) กล่าวว่า "บทบาทสำคัญของ SICRES คือการเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการวิจัยทางคลินิกในหลากหลายโรค โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยและภูมิภาค ความร่วมมือกับแอสตร้าเซนเนก้าในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรด้านการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทยได้มีโอกาสพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้นผ่านเครือข่ายองค์ความรู้ในระดับนานาชาติและนวัตกรรมของแอสตร้าเซนเนก้า การทำงานร่วมกันในห้องปฏิบัติการส่วนกลางระหว่างนักวิจัยชาวไทยและพาร์ทเนอร์ จะช่วยสนับสนุนการขยายขอบเขตงานวิจัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อพัฒนายารุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยในอนาคต การร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับแอสตร้าเซนเนก้าครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงยารักษาโรคและวิธีการรักษาใหม่ๆ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ภายในงานยังจัดให้มีการเสวนาวิชาการหัวข้อ "Clinical Research: Bridging Innovation and Patient Care - The Path to Novel Treatments" ซึ่งเป็นการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกระหว่างแอสตร้าเซนเนก้าและนักวิจัย เกี่ยวกับบทบาทของการวิจัยทางคลินิกในการพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรค รวมถึงการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วย การเสวนานี้ปิดท้ายด้วยการอภิปรายถึงประโยชน์และความท้าทายของการขยายการเข้าถึงการรักษาผ่านการวิจัยทางคลินิก โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดในการทำงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานในอนาคต