สวทช. แถลงสรุปผลงานปี 67 ตอบโจทย์ประเทศ 4 มิติ เผยกลยุทธ์ ปี 68 มุ่งเน้น 'การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยยั่งยืน'

ข่าวทั่วไป Wednesday December 25, 2024 17:12 —ThaiPR.net

สวทช. แถลงสรุปผลงานปี 67 ตอบโจทย์ประเทศ 4 มิติ เผยกลยุทธ์ ปี 68 มุ่งเน้น 'การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยยั่งยืน'

(วันที่ 24 ธันวาคม 2567) ณ ห้องกมลทิพย์ บอลรูม1-2 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ: ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักวิจัย แถลงข่าวสรุปผลงาน สวทช. ปี 2567 พร้อมเผยทิศทางการดำเนินงานปี 2568 ภายใต้กลยุทธ์ คือ 'S&T Implementation for Sustainable Thailand' หรือ "การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยยั่งยืน" เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของ สวทช. ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยระดับชาติในการพัฒนาประเทศ โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถพึ่งพาตนเองนำพาประเทศชาติให้มีความสามารถในการแข่งได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

วิจัยตอบโจทย์ประเทศ 4 มิติ 'สร้างการเติบโตทาง ศก.-พึ่งพาตนเอง-ลดเหลื่อมล้ำ-สร้างความยั่งยืน สวล.'

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ขับเคลื่อนโครงการ BCG Implementation ในปี 2567 เพื่อใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ผลงานในปี 2567 ที่ประชาชนและผู้ให้บริการจากภาครัฐเอกชน และภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดย สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรเกิดผลสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนกว่า 8.9 ล้านคน และมีหน่วยงานนำเทคโนโลยีไปใช้มากกว่า 43,000 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มากกว่า 20,000 ล้านบาท และผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มากกว่า 3,600 ล้านบาท โดยสามารถตอบโจทย์ประเทศทั้ง 4 มิติ ได้แก่

มิติที่ 1 สร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่

  • แพลตฟอร์มการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน บริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ตลอดห่วงโซ่การผลิตพร้อมผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีมากกว่า 25 รายการ การลงทุนด้าน วทน. มากกว่า 200 ล้านบาท ผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากกว่า 2,300 ล้านบาท เกิดมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า 7,500 ล้านบาท ยกระดับอุตสาหกรรมส่วนผสมฟังก์ชัน อาหารและเวชสำอาง อุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
  • นวัตกรรมการผลิตสารสกัดเพิ่มมูลค่า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามอย่างยั่งยืน พัฒนาเทคโนโลยียกระดับสมุนไพรไทยสู่ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ วิจัย 'สารสกัดมาตรฐานจากกระชายดำและบัวบก' โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสู่ 'ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์' ผลักดันสารสกัดสมุนไพรไทยสู่ บริษัทชั้นนำระดับโลก 10 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และนิวซีแลนด์ เกิดการลงทุนด้าน วทน. 152 ล้านบาท สร้างมูลค่าทางธุรกิจ มากกว่า 320 ล้านบาท เป็นการพลิกโฉมสมุนไพรไทยสู่สารสกัดมูลค่าสูง พัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงามระดับมาตรฐานสากล
  • EV การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน มีการพัฒนาคน โดยการ Upskill/Reskill กำลังคนด้าน EV สร้างเทคโนโลยีสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย "อว. For EV" มีผู้ใช้ประโยชน์ 36 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 860 ล้านบาท เกิดการลงทุนด้าน วทน. มากกว่า 640 ล้านบาท
  • มิติที่ 2 เพิ่มการพึ่งพาตนเอง ด้วย 4 โครงการหลัก ได้แก่

    1.ชุดตรวจติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย. และกำลังเข้าสู่ระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยชุดตรวจติดตามโรคไต Al-Strip เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองโรคด้วยตัวเองอย่างง่าย รู้ผลตรวจภายใน 5 นาที เพื่อคัดกรองภาวะเสื่อมของไตในระยะเริ่มต้น เพิ่มโอกาสให้คนไทยรอดพ้นจากโรคไตเรื้อรัง โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้งประเทศมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งทำให้รัฐต้องจ่ายงบประมาณค่ารักษามากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

    สำหรับชุดตรวจคัดกรองโรคไต ปัจจุบันนาโนเทค สวทช. สภาเภสัชกรรม และ สปสช. ผลักดันการใช้ประโยชน์ชุดตรวจคัดกรองโรคไต เข้าสู่ระบบ สปสช. ผ่านร้านขายยาในโครงการพื้นที่ สปสช.เขต 7 จ.ขอนแก่น นำร่อง 3,000 ชุด ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไตแบบครบวงจร โดยคาดว่าจะนำร่องแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2568 ก่อนจะผลักดันเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ

    2.Digital Healthcare Platform ขยายผลแพลตฟอร์มบริการการแพทย์ปฐมภูมิ สนับสนุนหน่วยบริการนวัตกรรมตามนโยบาย สปสช. และบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ช่วยคนไทยได้ใช้ประโยชน์กว่า 3 ล้านคน จำนวนการใช้บริการมากกว่า 8 ล้านครั้ง สนับสนุนหน่วยบริการทางการแพทย์มากกว่า 6,200 แห่ง รวมถึงสนับสนุนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาล

    3.วัคซีนสัตว์ พัฒนาวัคซีน ASF สายพันธุ์ไทย เพื่อเป็นความหวังใหม่ในการสู้กับโรคระบาดในสุกร จากการที่ประเทศไทยประกาศการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Africa Swine Fever: ASF) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 สร้างความเสียหายในอุตสาหกรรมมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท แม้ว่าหลายประเทศได้เร่งพัฒนาวัคซีน แต่ยังคุณภาพไม่ดีพอ สวทช. โดยไบโอเทค เร่งพัฒนาวัคซีน ASFV ต้นแบบชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ จากไวรัสสายพันธุ์ไทย เพื่อสู้กับโรคระบาดในสุกร และลดการนำเข้าวัคซีน ปัจจุบันวางแผนทดสอบต้นแบบวัคซีนในฟาร์มสุกร 12 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐและเอกชน 80 ล้านบาท

    4.National AI Ecosystem พัฒนาระบบนิเวศส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเสริมศักยภาพคนไทยก้าวทันโลกอนาคต โดยมีการสนับสนุนแพลตฟอร์ม "AI for Thai" ที่มีสถิติการใช้งานสูงสุดมากกว่า 1 ล้านครั้งต่อเดือน สนับสนุน Medical AI Data Sharing ที่มีข้อมูลมากกว่า 2 ล้านภาพครอบคลุม 9 โรคสำคัญ โครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ผ่านการให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ สำหรับการวิจัยด้าน AI และสนับสนุนพัฒนา Thai LLM เป็น OpenThaiGPT ที่พัฒนาโดยคนไทย

    ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวต่อว่า มิติที่ 3 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่

    1.Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ปฏิรูปการร้องเรียน เชื่อมต่อทุกปัญหา เชื่อมโยงประชาชนเข้ากับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อยกระดับสังคมเมืองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ปัจจุบันมีจังหวัดที่ใช้งานทุกหน่วยราชการของจังหวัดมากถึง 23 จังหวัด ผ่านการรับเรื่องแจ้งทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านเรื่อง ครอบคลุมประชากรมากกว่า 30 ล้านคน คิดเป็น 45% ของประชากรทั่วประเทศ ขยายผลการใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 หน่วยงาน

    2.ทุ่งกุลาม่วนซื่น ส่งเสริมเกษตรกร/ผู้มีรายได้น้อย ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สินค้าเกษตรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มากกว่า 5,000 คน 40 หน่วยงาน ยกระดับสินค้าเกษตรและอาหารมูลค่าสูงผ่านกลไก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เกิด 10 ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ชุมชนมากกว่า 82 ล้านบาท ช่วยสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมถั่วเขียวแบบครบวงจร ช่วยพลิกผืนดินทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เป็น "ทุ่งกุลาม่วนซื่น อยู่ดี มีแฮง"

    3.แพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารของคนพิการ แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อบริการสื่ออ่านง่ายสำหรับบุคคลที่บกพร่องทางการรับรู้ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสร้างงานและสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีหน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์มากกว่า 130 หน่วยงาน ผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 142,000 คน

    และ มิติที่ 4 สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วย 2 โครงการหลัก ได้แก่

    1.การพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูล CO2 , CE, SDGs เพื่อการค้าและความยั่งยืน โดย เอ็มเทค สวทช. สร้างฐานข้อมูลพัฒนาตัวชี้วัดสำคัญเพื่อสนับสนุนแนวทาง SDGs ปรับปรุงฐานข้อมูลวัฎจักรชีวิตระดับประเทศ สนับสนุนภาครัฐและภาคเอกชน นำพาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการกีดกันทางการค้า โดยผลักดันให้มีผู้ใช้ประโยชน์มุ่งสู่ NET ZERO 180 หน่วยงาน สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่า 7 แสนตัน สร้างผลกระทบมากกว่า 5,500 ล้านบาท และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยสู่ตลาดโลกด้วยฐานข้อมูลเพื่อตอบมาตรการ CBAM สำหรับอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เหล็ก และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต

    2.Industry 4.0 Platform แพลตฟอร์มรวบรวมบริการและกิจกรรมช่วยผู้ประกอบการไทย ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตลดต้นทุนการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย สวทช. สนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมประเมินอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยตัวเอง (Self-assessment) ผ่านการใช้งานระบบ Thailand i4.0 CheckUp มากกว่า 405 ราย มีเป้าหมายให้ได้ 5,000 รายภายในปี 2571 โดยมีศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ที่จะช่วย Upskill/Reskill ผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้การดำเนินงานโครงการ IDA (Industrial IoT and Data Analytics) Platform เพื่อยกระดับโรงงานอุตสาหกรรม ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร โดยมีตัวอย่างความสำเร็จของ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด (โรงงานน้ำมันกุ๊ก) ที่ช่วยยกระดับภาคการผลิต เกิดการลงทุนด้าน วทน. ในโรงงาน 1 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ 102 เท่าของเงินลงทุน ลดความสูญเสียกำลังการผลิต 126 ล้านบาท

    "จะเห็นได้ว่าแต่ละโครงการ ประชาชนต้องได้ใช้ประโยชน์จากผลงานของ สวทช. ผ่านหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ที่มีหน้าที่โดยตรง และมีความต้องการเอาผลงานของ สวทช. ไปขยายผล นั่นคือเป้าหมายที่ทำให้งานวิจัย เข้าถึงประชาชนจำนวนมาก และถึงผู้ใช้ประโยชน์จริง นั่นคือเป้าหมายหลักของ สวทช."

    ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ตลอดปี 2567 สวทช. นอกจากการดำเนินโครงการ BCG Implementation แล้ว สวทช. เดินหน้าดำเนินการในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของการเป็นหน่วยงานวิจัยแห่งชาติ อาทิเช่น ด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม สวทช. ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ SMEs 550 ราย ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย 76 ราย และยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการใช้ประโยชน์ 501 ราย

    ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชน สวทช. ส่งเสริมเทคโนโลยีสร้างอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ มากกว่า 10,000 คน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมประมาณ 500 ล้านบาท

    ด้านการพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 17,000 คน สนับสนุนทุนให้แก่บัณฑิตและนักวิจัยอาชีพมากกว่า 500 คน

    ด้านการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 724 เรื่อง ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 247 รายการ พร้อมทั้งได้รับรางวัลระดับนานาชาติและระดับชาติมากถึง 78 รางวัล

    ปี 68 มุ่งเน้น S&T Implementation 'การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยยั่งยืน'

    ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2568 สวทช. ยังคงมุ่งมั่นนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ขยายผลงานวิจัยไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ตามนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศุภมาส อิศรภักดี ได้เน้นย้ำให้เร่งผลักดันงานวิจัยเข้าถึงประชาชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งมั่นดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี สวทช. (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่ง สวทช. ตั้งเป้าทิศทางการทำงานด้วยกลยุทธ์ "S&T Implementation for Sustainable Thailand" โดยตั้งเป้าหมายผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ S&T Implementation เพิ่มขึ้นมากกว่า 7 ล้านคน และหน่วยงานรับถ่ายทอดผลงานวิจัยมากกว่า 20,000 หน่วยงาน โดยเน้น 4 กลยุทธ์ ในการดำเนินงาน ได้แก่

  • ขับเคลื่อนแผนงาน S&T Implementation for Sustainable Thailand ร่วมกับพันธมิตรสำคัญในการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์
  • สร้างความเข้มแข็ง ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีฐานด้านที่สำคัญของประเทศ เพื่อตอบ S&T Ecosystem ของประทศ
  • สร้างการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานของ สวทช. และการพัฒนาบุคลากรด้าน วทน.
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร
  • ทั้งนี้ทุกผลงานวิจัยทุกความสำเร็จเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรที่ได้ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นขุมพลังในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้มแข็งให้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วย วทน. เพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่ยั่งยืน


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ